แม่เคยสงสัยกันใช่ไหมคะ ว่า แคลเซียม สำหรับ คนท้อง ต้องกินเยอะแค่ไหน และมีผลต่อร่างกายอย่างไร
แคลเซียม ถือเป็นแร่ธาตุและสารอาหารชนิดหนึ่ง ที่สำคัญต่อการบำรุงรักษาฟันและกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนท้อง คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมเพียงพอต่อความต้องการร่างกาย เพราะแคลเซียมส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก
หากคุณแม่อยากรู้ว่า ควรรับประทานแคลเซียมอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ และจะหารับประทานได้จากอาหารประเภทไหนบ้างนั้น ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของคุณและลูกน้อย บทความนี้ได้รวมคำตอบของทุกคำถามมาไว้ให้แล้วค่ะ
แคลเซียม สำคัญต่อ คนท้อง อย่างไร
แคลเซียม ถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับแม่ท้อง เมื่อคุณแม่รับประทานอาหารอุดมด้วยแคลเซียมแล้ว ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมเข้าไปในร่างกาย ส่งต่อไปให้ทารกผ่านสายสะดือ โดยแคลเซียมมีส่วนช่วยเสริมสร้าง และพัฒนากระบวนการเจริญเติบโตของเจ้าตัวเล็ก เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ทารกจะเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น คุณแม่จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณแคลเซียมมากขึ้น เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาการของสมองและสติปัญญาของเด็กหลังจากการคลอด นอกจากนี้ แคลเซียมยังเสริมสร้างสุขภาพคุณแม่ด้านอื่นด้วย โดยประโยชน์ของแคลเซียมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ มีดังนี้
- เสริมสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ ตั้งแต่ระบบประสาท กระดูก กล้ามเนื้อ และฟันของทารก
- เสริมสร้างความสมบูรณ์ของเซลล์ ที่ควบคุมระบบการทำงานของหัวใจ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในร่างกายของทารก
- ช่วยให้คุณแม่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
- ป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม และหลอดเลือดอุดตัน
- เสริมสร้างสติปัญญาของทารกในครรภ์
คนท้องต้องกินแคลเซียมให้พอดี
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมมากกว่าปกติ เพราะร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมเข้าไปเลี้ยงทารกในปริมาณที่มากขึ้น คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ลูกน้อยได้รับแคลเซียมเพียงพอ เสริมสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์และให้นมลูกควรได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม เฉลี่ยประมาณ 200 มก. ซึ่งเป็นปริมาณเพิ่มขึ้นจากระดับปกติของคนทั่วไป ทั้งนี้ แม่ท้องแต่ละคนก็รับปริมาณแคลเซียมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของตนด้วย สรุปได้สั้น ๆ ดังนี้
- แม่ท้อง อายุน้อยกว่า 30 ปี จะต้องได้รับแคลเซียม ปริมาณ 1,300 มก. / วัน
- แม่ท้อง อายุเกิน 30 ปี จะต้องได้รับแคลเซียม ปริมาณ 1,200 มก. / วัน
แคลเซียม สำหรับ คนท้อง หาได้จากที่ไหนบ้าง
ไม่ว่าคุณจะเป็นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ หรือกำลังให้นมลูก สิ่งสำคัญที่ต้องทำนั้น ก็คือ บริโภคสารอาหารจำเป็นให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หนึ่งในสารอาหารจำเป็นนั้น ก็คือ ‘แคลเซียม’ คุณแม่ควรได้รับแคลเซียมปริมาณพอเหมาะ จากแหล่งอาหารที่เหมาะสม โดยอาจเลือกรับประทานแคลเซียมเสริม แหล่งอาหารธรรมชาติหรืออาหารแปรรูป ที่มีแคลเซียมสูงได้ ดังนี้
- นม มีแคลเซียมประมาณ 300 มิลลิกรัม
- โยเกิร์ต 1 ถ้วย ปกติ มีแคลเซียมประมาณ 415 มิลลิกรัม
- ชีส (เชดด้าชีส) มีแคลเซียมประมาณ 307 มิลลิกรัม
- อาหารเช้าซีเรียล 1 ถ้วยเล็ก มีแคลเซียมประมาณ 100 – 1,000 มิลลิกรัม
- น้ำส้ม มีแคลเซียมประมาณ 375 มิลลิกรัม
- ผักคะน้าลวกสุก 1 ถ้วยเล็ก มีแคลเซียมประมาณ 94 มิลลิกรัม
- ปลาซาร์ดีน 1 กระป๋อง มีแคลเซียมประมาณ 325 มิลลิกรัม
- ปลาแซลมอน มีแคลเซียมประมาณ 180 มิลลิกรัม
- ผักกาดกวางตุ้งดิบ 1 ถ้วยเล็ก มีแคลเซียมประมาณ 74 มิลลิกรัม
- เต้าหู้ และ เทมเป้ (คล้ายเต้าหู้แต่ทำจากถั่วเหลืองเต็มเมล็ด) มีแคลเซียมประมาณ 250 มิลลิกรัม
- เครื่องดื่มถั่วปั่นต่าง ๆ มีแคลเซียมประมาณ 80 – 500 มิลลิลกรัม
แคลเซียม ไม่เพียงพอ อันตรายต่อคนท้องแค่ไหน
คุณแม่ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอนั้น อาจเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยอาการขาดแคลเซียมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
1. ความดันเลือดสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้น ถือเป็นภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง คุณแม่อาจมีความดันเลือดสูงถึง 140 / 90 มม. รวมทั้งเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย ล้าง่าย และปวดหัวมากเกินไป อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อย่างภาวะแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนดได้
2. ครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษเกี่ยวข้องกับความดันโลหิต โดยจะทำลายประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ไต เป็นต้น คุณแม่จะรู้สึกปวดข้างในกระดูก ตามแขนขา หายใจถี่ รวมทั้งความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเสี่ยงทำให้แท้งได้ หรือส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ปวดกระดูกรุนแรง
ร่างกายมนุษย์มีแคลเซียมสะสมอยู่ในกระดูกและฟันมากกว่า ร้อยละ 90 หากร่างกายขาดแคลเซียม หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ คุณแม่อาจเสี่ยงเป็นตะคริว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง หรือปวดตามข้อ ช่วงเอว และกระดูกเชิงกรานได้ นอกจากนี้ คุณแม่ยังปวดหลังได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะกระดูกสันหลังต้องรองรับน้ำหนักของทารกในครรภ์โดยตรง
สุขภาพดีเริ่มได้จากการเลือก ‘กินดี’ และ ‘กินให้เป็น’ ค่ะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเสียเงินมากมาย เพื่อซื้อสุขภาพที่ดี เพราะสุขภาพดีสร้างได้ ตั้งแต่ในครัวของเราเองเลยค่ะ
ติดตามข่าวสาร สาระ และเกร็ดความรู้ เรื่องการดูแลสุขภาพคุณแม่ และวิธีเลี้ยงลูก ได้ที่ Mama’s Choice Blog
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของ Mama’s Choice Thailand ได้ที่ Shopee Official Store
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice