Search

วิธี ‘เบิกค่าคลอดบุตร’ จากประกันสังคม เบิกอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง มาดูกัน!

 

คุณแม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนย่อมโดนหักเงินเข้า ‘ประกันสังคม’ หรือ ‘กองทุนเงินทดแทนสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ’ กันอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็อย่าลืมใช้สิทธิในการ เบิกค่าคลอดบุตร รวมถึงเบิกเงินส่วนอื่นๆ ที่คนท้องและคนเป็นพ่อแม่พึงได้รับกันนะคะ โดยในบทความนี้ Mama’s Choice สรุปรายละเอียดทั้งหมดมาให้แล้วค่ะ รับรองว่าเบิกง่าย ไม่ยาก!

 

เบิกค่าคลอดบุตร ได้กี่บาท?

เหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (ถ้าตั้งครรภ์ลูกแฝด ก็นับเป็น 1 ครั้งนะคะ) โดยคุณแม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเตรียมเอกสารไปยื่นสำนักงานประกันสังคมเพื่อเบิกคืนทีหลังค่ะ

 

คุณแม่ต้องเป็นผู้ประกันตน ม. อะไร ถึง เบิกค่าคลอดบุตร ได้?

  • ม.33 หรือ มาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ที่บริษัทหัก 5% ส่งประกันสังคมให้ทุกเดือนโดยอัตโนมัติ
  • ม.39 หรือ มาตรา 39 คือ คนที่ลาออกจากบริษัทเอกชนยังไม่เกิน 6 เดือน และต้องเคยส่งประกันสังคมมาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน
  • ทั้งนี้ ไม่ว่าจะ ม. 33 หรือ ม.39 ก็ต้องเคยส่งประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ โดย 5 เดือนที่ส่งนั้นไม่จำเป็นต้องติดต่อกันก็ได้ค่ะ

 

คุณแม่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ม. อะไรเลย ให้คุณพ่อ เบิกค่าคลอดบุตร แทนได้ไหม?

ได้ค่ะ

 

คุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ต้องใช้สิทธิของใคร?

ของใครก็ได้ เลือกแค่คนใดคนหนึ่งนะคะ

 

จำเป็นต้องคลอดที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมไหม?

ไม่จำเป็นค่ะ คุณแม่สามารถคลอดที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่สะดวก จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้ค่ะ

 

เบิกค่าคลอดบุตร เงิน วางแผนการเงิน ประกันสังคม คลอดลูก

 

เบิกค่าคลอดบุตร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

  1. สปส. 2-01 แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน โดยคุณพ่อหรือคุณแม่ผู้ประกันตนจะต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  2. บัตรประชาชนตัวจริง 
  3. เตรียมสำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด
  4. ในกรณีคลอดบุตรแฝด ให้คุณแม่แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดไปด้วย 
  5. หากใช้สิทธิคุณพ่อจะต้องแนบสำเนาทะเบียนสมรสไปด้วย 
  6. ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสไปด้วย
  7. สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ โดยมีธนาคารต่างๆ ที่เข้าร่วม ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต (เป็นการรวมตัวกันของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต)

 

เตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?

  • ไปยื่นเอกสารเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์เบิกเงินค่าคลอดบุตรได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ
    • สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง
    • สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่คุณแม่สะดวก
    • ยกเว้น สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข
  • ยื่นเอกสารได้ทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8:30 – 16:30 น. (วัน-เวลา ราชการ)
  • ไปยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เองหรือให้ผู้อื่นไปยื่นเรื่องแทนก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าเอกสารที่ฝากผู้อื่นไปยื่นนั้นมีความถูกต้องครบถ้วนตามที่สำนักงานประกันสังคมร้องขอ และอย่าลืมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารทุกฉบับให้ชัดเจนด้วยนะคะ
  • นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถยื่นเอกสารขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านทางไปรษณีย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องจ่าหน้าซองถึงผู้รับว่า ฝ่ายสิทธิประโยชน์ และส่งเอกสารไปตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน

เงิน เงินคลอดบุตร เงินประกันสังคม เบิกเงิน

 

สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาสั่งจ่ายเงินอย่างไร? 

สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาสั่งจ่ายเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่

  1. เงินสดหรือเช็ค (ผู้ประกันตนจะมารับเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทนก็ได้) 
  2. ส่งธนาณัติให้กับผู้ประกันตน
  3. โอนผ่านเข้าบัญชีของผู้ประกันตนตามที่แจ้งไว้

คุณพ่อคุณแม่จะได้รับเงินภายใน 5 – 7 วันทำการ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติการสั่งจ่าย ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

 

คนท้อง เบิกประกันสังคม อะไรได้อีกบ้าง?

เบิกค่าคลอดบุตร

 

ค่าตรวจและฝากครรภ์ 

คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 สามารถเบิกเงินค่าตรวจและฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท (จากเดิม 1,000 บาท) โดยจะแบ่งจ่ายเป็นทั้งหมด 5 ครั้ง มีรายละเอียดดังนี้

  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท
  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท
  • คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท

 

เงินสงเคราะห์การหยุดงานจากการลาคลอดบุตร

  • คุณแม่ (ผู้ประกันตนฝ่ายหญิง) สามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานจากการลาคลอดบุตรได้ 50% ของเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • โดยเบิกได้เป็นระยะเวลา 90 วัน และเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง แต่หากคุณแม่มีบุตรคนที่ 3 จะไม่สามารถเบิกเงินตรงส่วนนี้ได้แล้ว
  • ถ้าคุณแม่กลับไปทำงานก่อนครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน สำนักงานประกันสังคมก็จะยังคงจ่ายให้เต็ม 90 วัน
  • เช่น ถ้าคุณแม่มีเงินเดือน 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 7,500 บาท รวมแล้วเป็น 22,500 บาท

 

เงินทดแทนในกรณีแท้งบุตร 

แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคุณแม่ท่านไหนก็ตาม แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นจริงๆ เราอยากให้ข้อมูลในส่วนตรงนี้เป็นประโยชน์กับคุณแม่ โดยคุณแม่สามารถขอรับเงินทดแทนได้เท่ากับการเบิกเงินค่าคลอดบุตร และจะได้รับเงินชดเชยการหยุดงานด้วยเช่นกัน มีเงื่อนไขดังนี้

  • เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 เท่านั้น
  • ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่มีการแท้งบุตร คุณพ่อคุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน 
  • คุณแม่ต้องมีอายุครรภ์ขณะแท้งบุตรไม่ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือน

 

เงินสงเคราะห์บุตร

คุณพ่อคุณแม่จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มเติมอีกเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน (จากเดิม 600 บาท) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 

  • เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33, ม.39 และ ม.40
  • ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนรับสิทธิ คุณพ่อหรือคุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน 
  • ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุคคลอื่น
  • สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 3 คน

และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลการเบิกเงินที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์จากกองทุนประกันสังคมที่ Mama’s Choice ได้นำมาฝากให้กับคุณแม่เก็บไว้เป็นข้อมูลและเตรียมความพร้อมสำหรับการมาถึงลูกน้อย แม้ว่าเงินตรงส่วนนี้จะไม่ใช่เงินถุงเงินถัง แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาแข็งแรงสมวัยไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และเงินก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงดู ดังนั้นอย่าปล่อยให้เสียสิทธิที่เราควรจะได้รับไปนะคะ 

ท้ายที่สุดนี้ สำหรับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกค่าตรวจและฝากครรภ์ กรณีแท้งบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือ โทร. 1506 (บริการตลอด 24 ชม.)

 

อ้างอิง 1, 2, 3, 4

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

15 อาการคนท้อง ที่บอกได้เลยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ

อาการ แพ้ท้อง น้ำลายไหลมากผิดปกติ ป้องกันได้ด้วย 4 วิธีนี้

ไขข้อข้องใจคุณแม่มือใหม่ คลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร เจ็บมากไหม

 

Author Kankanid

Kankanid

Content Manager at Mama's Choice

COMMENTS

0 Comments
Leave a comment

Your Cart (0)

Close

เพิ่ม ฿300.00 เพื่อรับสิทธิในการจัดส่งฟรี!

Mini Cart

ตะกร้าสินค้าของคุณว่างเปล่า

Shop now

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า