ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวันยิ่งสร้างความกังวลให้ทุกครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีคุณแม่ตั้งครรภ์หรือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก นอกจากการเลี้ยงดูลูกแล้ว การให้นมลูกนับว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับคุณ แม่ให้นม เพราะนอกจากจะต้องกังวลเรื่องเชื้อโรคและความสะอาดแล้วยังต้องคำนึงถึงเรื่องการติดเชื้อระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย
เพื่อช่วยให้คุณแม่มือใหม่สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ตลอดไปจนถึงช่วงหลังคลอดและให้นมลูกได้อย่างปลอดภัย วันนี้ Mama’s Choice จะมาช่วยไขข้อข้อใจพร้อมแนะนำเคล็ดลับการดูแลตัวเอง ดูแลลูก พร้อมเคล็ดลับการให้นมลูกอย่างปลอดเชื้อและปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน
คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าปกติจริงหรือ?
‘ภาวะติดเชื้อ’ เป็นความกังวลแรกๆ ของคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก เนื่องจากกลัวว่าขณะตั้งครรภ์ภูมิคุ้มกันร่างกายจะอ่อนแอลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น เพราะมีรายงานจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษระบุว่า การตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้คุณแม่ติดเชื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า 2 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อแทบจะไม่แสดงอาการผิดปกติเลย ในกลุ่มที่มีอาการพบว่ามีอาการไอ มีไข้ต่ำ เป็นหวัด คัดจมูก และปวดเมื่อยตามตัวเท่านั้นซึ่งไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตราย
แต่หากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูและโรคเบาหวาน มีอายุมาก มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษ ในกรณีนี้อาการหลังติดเชื้ออาจรุนแรงและเป็นอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรติดตามอาการและปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
หากคุณแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ลูกจะติดเชื้อด้วยหรือไม่?
เรียกได้ว่าคำถามนี้เป็นคำถามคาใจคุณแม่ทั่วโลกที่กังวลว่าเชื้อไวรัสจะถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์จนทำให้เกิดอันตราย แม้แต่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดว่าเด็กสามารถติดเชื้อในครรภ์แม่ได้หรือไม่ แต่จากการตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำในครรภ์และตัวอย่างน้ำนมของคุณแม่ที่ติดเชื้อยังไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ด้วย จึงพอจะสรุปอย่างไม่เป็นทางการได้ว่าเด็กในครรภ์มีโอกาสต่ำที่จะติดเชื้อจากแม่ นอกจากนี้ข้อมูลทางสถิติยังช่วยยืนยันอีกว่ามีเพียง 2-5 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กแรกเกิดทั่วโลกเท่านั้นที่พบภาวะติดเชื้อหลังคลอด ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเด็กติดเชื้อจากในครรภ์หรือติดเชื้อจากการปนเปื้อนระหว่างคลอด
ถึงโอกาสติดเชื้อในครรภ์จะมีน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท
ในสถานการณ์แบบนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยของลูกในท้อง เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการล้างมือทุกครั้งหลังหลังหยิบจับสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น เปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายทันทีที่กลับถึงบ้าน ระมัดระวังการใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้าของตัวเอง ลดการพบปะผู้คนและต้องไม่ลืมที่จะรักษาระห่างทางสังคม 2 เมตร เมื่อมีความจำเป็นต้องทำธุระนอกบ้าน
เรื่องอาหารการกินก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรเลือกทานอาหารปรุงสุกและสดใหม่ ที่สำคัญคือต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และไม่ลืมที่จะเติมสารอาหารจำเป็น เช่น วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน โฟเลต เป็นต้น การทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันของคุณแม่แข็งแรง ยิ่งคุณแม่แข็งแรงเท่าไหร่ลูกน้อยในครรภ์ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น
การดื่มนมแม่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ลูกหรือไม่?
เนื่องจากการตรวจสอบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่เคยพบเชื้อไวรัสในน้ำนมแม่ แม้ว่าจะเป็นน้ำนมของคุณแม่ที่ติดเชื้อ ดังนั้นคุณแม่จึงยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ ไม่ควรหลีกเลี่ยงการให้นมหรือแทนที่นมแม่ด้วยนมผง เพราะนมแม่เป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กเล็ก ในช่วงทารกเด็กจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตัวเองจึงจำเป็นต้องพึ่งพาสารอาหารในนมแม่ให้มาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เป็นเกราะปกป้องเขาจากการติดเชื้อต่าง ๆ นอกจากนี้การที่ลูกได้อยู่ใกล้และได้รับสัมผัสที่อ่อนโยนจากแม่ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี (Bonding) ระหว่างแม่ลูกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการในเด็กเล็ก การให้นมแม่จึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกขาดไม่ได้และไม่มีนมชนิดไหนที่ทดแทนได้
เมื่อต้องให้นมลูกทารก ความสะอาดต้องมาเป็นอันดับ 1
เพราะนมแม่เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกขาดไม่ได้ การรักษาความสะอาดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะความสะอาดไม่ได้ช่วยป้องกันแค่เชื้อไวรัสโควิด – 19 เท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันลูกจากเชื้อโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยหรือเป็นอันตรายได้ ดังนั้นก่อนให้นมลูกคุณแม่ควรทำความสะอาดร่างกายและล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีเสียก่อน หากใช้เครื่องปั๊มนมให้ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนม ขวดนม และจุกนมทั้งก่อนใช้และหลังใช้ทุกครั้ง ที่สำคัญคืออย่าใช้จุกนม ขวดนม หรือเครื่องปั๊มนมร่วมกับผู้อื่นเด็ดขาดเพราะนั่นจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสเดินทางมาหาลูกน้อยของเราได้ง่ายขึ้น
ในการล้างทำความสะอาดขวดนมและอุปกรณ์ชงนม สิ่งสำคัญคือการแยกอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้าง เช่น กะละมัง หรือ แปลง ออกจากของใช้อื่นๆ โดยอุปกรณ์ทั้งหมดควรผ่านการทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์เฉพาะที่เป็น Food Grade หรือผ่านการแช่น้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ ที่สำคัญคือห้ามใช้ปนกับอุปกรณ์การล้างทั่วไปที่อาจมีเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือสารเคมีปะปนอยู่ หลังจากล้างเสร็จให้นำขวดนมหรือจุกนมไปนึ่งฆ่าเชื้ออีกครั้งก่อนตัดเก็บให้เรียบร้อย โดยการจัดเก็บจะต้องเก็บแยกกับภาชนะอื่นๆ
สำหรับอุปกรณ์ปั๊มนมควรถอดออกมาล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน ข้อควรระวังคือชิ้นส่วนที่เป็นสายยางและชิ้นส่วนที่ทำจากซิลีโคนไม่จำเป็นต้องนึ่งเพราะการนึ่งจะทำให้วัสดุเสื่อมเร็ว ส่วนอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ สามารถนึ่งได้ ทั้งนี้น้ำยาที่ใช้ล้างทำความสะอาดควรขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ปัี๊มนมควรเป็นน้ำยาที่ผลิตสำหรับใช้ล้างขวดนมโดยเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงสารตกค้างที่อาจติดเข้าไปในร่างกายของลูกได้
‘หน้ากากอนามัย’ อาวุธสำคัญที่ขาดไม่ได้แม้ในเวลาให้นมลูก
แม้จะเป็นการให้นมที่อยู่กันแค่สองคน คุณแม่ก็ไม่ควรละเลยการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเชื้อโรคจากน้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ แพร่ไปถึงตัวลูก หากไม่สามารถให้นมลูกได้ด้วยตัวเองคุณแม่ควรเลือกผู้ช่วยที่ไว้ใจได้และไม่มีประวัติเสี่ยงมาป้อนนมลูกน้อยแทน แล้วอย่าลืมเตือนทุกคนที่อยู่ร่วมกันให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่ร่วมกับเด็กเล็ก
ทุกคนในครอบครัวควรศึกษาและเรียนรู้วิธีสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง สิ่งแรกที่ควรทำคือการล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับหน้ากากอนามัย การจับหน้ากากอนามัยควรจับที่สายหลังจากนั้นให้หันด้านสีขาวเข้าหาตัว แล้วนำสายคล้องไว้ที่หู ถึงตรงนี้เราจะรู้สึกได้ถึงแกนโลหะบริเวณจมูกให้ใช้มือบีบแกนโลหะให้แนบกับรูปจมูกของเราและสุดท้ายดึงหน้ากากส่วนล่างให้คลุมไปถึงบริเวณใต้คาง เมื่อใส่หน้ากากเรียบร้อยแล้วให้ตรวจเช็คอีกครั้งว่าหน้ากากแนบกับใบหน้าทั่วทุกด้านโดยไม่มีรูรั่วหรือช่องที่เปิดอยู่ ข้อควรระวังคือเวลาถอดหน้ากากอนามัยให้หลีกเลี่ยงการจับที่บริเวณหน้ากากเพราะบริเวณนั้นจะมีเชื้อโรคติดอยู่มาก ให้จับบริเวณสายคล้องและแยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ
การฉีดวัคซีนมีผลต่อการให้นมลูกหรือไม่?
นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนเพราะศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่ามีวัคซีนบางตัวที่คุณแม่สามารถฉีดได้โดยไม่ต้องหยุดให้นมลูก เช่น Pfizer และModerna แต่อย่างไรก็ตามก่อนการฉีดวัคซีนคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ฉีดจะไม่เป็นอันตรายต่อลูกที่อยู่ในวัยให้นม
หลังการฉีดวัคซีนแม้ว่าจะฉีดครบโดสแล้วก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เแม้ว่าวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยและช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้ แต่ก็ยังป้องกันไม่ได้ 100% คุณแม่จึงไม่ควรประมาทและรักษาวินัยในการปกป้องตัวเองและลูกน้อยอย่างเคร่งครัด
เด็กเล็กฉีดวัคซีนได้ไหม?
เนื่องจากข้อมูลที่มีจำกัดทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเด็กเล็กยังไม่สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าจากการร่วมมือกันนักวิจัยและแพทย์จากทั่วโลกเร็วๆ นี้คงได้เห็นวัคซีนที่สามารถปกป้องเด็กๆ ออกมาอย่างแน่นอน ระหว่างนี้ให้รักษาวินัยและป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด หมั่นติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและปรึกษาคุณแม่ประจำตัวเพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เมื่อวัคซีนสำหรับลูกน้อยเข้ามาเราจะได้พร้อมและพาลูกไปรับวัคซีนได้อย่างปลอดภัย
วิธีวางแผนการให้นมลูก กรณี แม่ให้นม ติดเชื้อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผยว่าคุณแม่ที่มีประวัติเสี่ยง หรือ มีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ ยังสามารถให้นมลูกได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกจากกัน โดยให้อยู่ในดุจพินิจและการดูแลของแพทย์ แต่หากคุณแม่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีอาการเข้าข่ายอันตราย แพทย์อาจพิจารณาให้แยกแม่กับลูกให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ในกรณีนี้คุณแม่ยังคงสามารถให้นมลูกได้โดยใช้เครื่องปั๊มนม แล้วมอบหน้าที่ให้ผู้ช่วยเป็นคนป้อนนมจนกว่าคุณแม่จะพ้นระยะเฝ้าระวัง
เพื่อกระตุ้นให้เต้านมผลิตน้ำนมได้อย่างเต็มที่ ป้องกันปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน และป้องกันเต้านมติดเชื้อ คุณแม่ควรปั๊มนมให้ลูกดื่มทุกๆ 2-3 ชั่วโมงในหนึ่งวัน หรือคิดเป็นวันละ 6-10 ครั้ง
ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยกลายเป็นผู้ติดเชื้อ?
โดยทั่วไปแล้วเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกแยกห่างจากผู้ปกครองเพื่อทำการรักษา เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวท่ามกลางหมอและพยาบาล โดยแพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ ตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขากุมารเวชกรรมกล่าวว่าเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกครอบครัวทอดทิ้งทางครอบครัวจำเป็นที่จะต้องญาติหรือคนใกล้ชิดที่ไม่ติดเชื้อและไม่มีประวัติเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงมาคอยอยู่ดูแลเด็กตลอดการรักษา ทั้งนี้เด็กจะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะหายดี
สำหรับผู้ป่วยเด็กทางโรงพยาบาลจะจัดหาเตียงให้เพื่อให้คุณหมอดูแลได้ใกล้ชิดและทันท่วงที ดังนั้นในบางกรณีลูกที่ตรวจพบว่าติดดเชื้ออาจยังต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้านระหว่างที่การจัดหาเตียง ในกรณีนี้คุณแม่ควรแยกลูกออกจากสมาชิกคนอื่นๆ แยกภาชนะ เสื้อผ้า และของใช้ทั้งหมดจากคนในบ้านรวมถึงแยกห้องน้ำถ้าเป็นไปได้ การซักล้างและทำความสะอาดก็ควรทำแยกกันอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและลดโอกาสการติดเชื้อของสมาชิกคนอื่นๆ ขยะที่เกิดจากเด็กติดเชื้อเช่น ผ้าอ้อมหรือกระดาษทิชชู่ ควรทิ้งแยกในถังขยะติดเชื้อและปิดถุงให้มิดชิด
จากข้อมูลของประเทศไทย ในรอบ เม.ย. 2564 พบว่า 75% ของผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กจะไม่แสดงอาการทำให้มีอัตราการแพร่เชื้อต่ำ ดังนั้นเด็กสามารถอยู่ในความดูแลของแม่ได้ แต่ที่ลืมไม่ได้เลยก็คือคุณแม่จะต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่กับลูก ล้างมือบ่อยๆ และระวังไม่นำมือที่สัมผัสขยะติดเชื้อไปสัมผัสร่างกายหรือสิ่งของอื่น ในกรณีนี้เสื้อผ้าของแม่ที่ใส่เวลาอยู่กับลูกให้นับว่าเป็นของใช้ติดเชื้อเช่นกัน
เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวน้อยคุณพ่อ คุณแม่ และทุกคนในครอบครัวควรคำนึงถึงสถานการณ์ ความเสี่ยง และประโยชน์ของลูกน้อยเป็นอันดับแรก แล้วจึงวางแผนการเลี้ยงดูและการให้นมที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญคือต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันอย่างเคร่งครัด หากทำได้แบบนี้รับรองว่าลูกน้อยจะสามารถเติบโตสมวัย ปลอดภัย และปลอดเชื้อในยุค New Normal ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice