คุณแม่รู้หรือไม่ว่าการ นวดก่อนคลอด นั้นส่งผลดีเป็นอย่างมากในระหว่างตั้งครรภ์? ดีอย่างไรน่ะหรือ? วิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและบรรเทาความเครียดให้กับคุณแม่ได้นั่นเองค่ะ 🙂
เราเข้าใจดีค่ะว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างในช่วง ระหว่างสัปดาห์ที่ 20 ถึง 28 ของการตั้งครรภ์ เบื้องต้นเราอยากแนะนำให้คุณแม่ลองออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายเบาๆ และปรับปรุงท่าทางการนั่งหรือการยืนให้เหมาะสมเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อตามบริเวณต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ แต่เรารู้ดีว่าบางครั้งวิธีเหล่านี้ก็ไม่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดให้กับคุณแม่ได้เสมอไป
ดังนั้นการ นวดก่อนคลอด หรือการนวดระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราอยากแนะนำให้กับคุณแม่ เพราะเป็นวิธีที่คุณแม่ทุกคนสามารถลองทำตามเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรทำตามคำแนะนำของเราอย่างระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามอย่างถูกวิธีและปลอดภัยกับลูกน้อยในครรภ์ หรือหากคุณแม่ท่านไหนมีสภาวะความเสี่ยงต่างๆ อย่าลืมปรึกษาสูติแพทย์ก่อนนะคะว่าในกรณีของคุณแม่นั้นนวดได้หรือไม่
การ นวดก่อนคลอด แตกต่างจากการนวดปกติอย่างไร?
การนวดก่อนคลอด คือวิธีการนวดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะใช้เทคนิคต่างๆ เหมือนกับการนวดทั่วไป แต่แรงกดจะเบาลงและถูกจำกัดบริเวณนวดเฉพาะบางจุดเท่านั้น จากภาพอินโฟกราฟิกด้านล่างนี้ คุณแม่จะเห็นได้ว่าการนวดสำหรับคนท้องนั้นไม่ได้แตกต่างจากการนวดแบบปกติมากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องระมัดระวังบางจุดเป็นพิเศษหรือหลีกเลี่ยงบางจุดโดยสิ้นเชิงค่ะ
บริเวณที่ คนท้องนวดได้
- หลังส่วนบน
- บริเวณระหว่างไหล่และอุ้งเชิงกราน
- เอว (นวดได้แค่เบาๆ เท่านั้นนะ เพราะอยู่ใกล้หน้าท้องหรือใกล้ลูกมากนั่นเองค่ะ)
- ต้นขาและน่อง (นวดได้เบาๆ แต่ห้ามกดจุดหรือรีดเส้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากคุณแม่มีอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ขาโดยไม่รู้ตัว เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดนั้นวิ่งไปอุดตันบริเวณอื่นที่เป็นอันตรายร้ายแรงกว่าได้)
บริเวณที่ คนท้องนวดไม่ได้
- หากเป็นการนวดกดจุด ควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นบริเวณใดของร่างกายก็ตาม
- บริเวณช่วงกลางหน้าท้อง เพราะเป็นจุดที่ลูกน้อยอยู่นั่นเองค่ะ
- บริเวณมือ (ช่องว่างระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้)
- บริเวณส้นเท้า นิ้วโป้งเท้า และรอบๆ เท้า
โดยสาเหตุที่ต้องหลีกเลี่ยงสองบริเวณเหลังนั้นเป็นเพราะมีความเชื่อว่าการนวดบริเวณเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญต่อการคลอดค่ะ
อย่าลืมใช้อินโฟกราฟิกนี้ เพื่อช่วยให้คุณแม่จดจำกันได้ว่ามีบริเวณใดบ้างที่คุณแม่สามารถนวดได้ในระหว่างตั้งครรภ์กันนะคะ
หากคุณแม่พบว่าเทคนิคเหล่านี้เป็นประโยชน์ ก็อย่าลืมมาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นกับเราได้ที่ด้านล่างนี้ เพราะ Mama’s Choice เรามุ่งมั่นที่จะรวบรวมข้อมูลและพัฒนาบทความของเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะเราหวังว่าข้อมูลของเราจะเป็นประโยชน์และช่วยให้คุณแม่ทุกท่านสามารถตัดสินใจทำเรื่องต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย 🙂
ควร นวดก่อนคลอด เมื่อไหร่ถึงจะดีที่สุด?
ในทางเทคนิคแล้ว จากแหล่งข้อมูลจากหลายๆ แห่งมักบอกว่าคนท้องสามารถเข้ารับการนวดก่อนคลอดได้หลังจากผ่านพ้นช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว แปลว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราอยากแนะนำก็คือคุณแม่ควรทำการนวดในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 13 ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 31 ของการตั้งครรภ์
เหตุผลก็คือ การตั้งครรภ์ของคุณแม่จะมีความเปราะบางมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรก (12 สัปดาห์แรก) ซึ่งในช่วงเวลานี้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นอาจนำไปสู่การแท้งบุตรได้ง่าย นักบำบัดมืออาชีพส่วนใหญ่จึงมักปฏิเสธที่จะให้บริการนวดก่อนคลอดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ยังอยู่ในช่วงไตรมาสแรก
แต่หลังจากพ้นช่วง 12 สัปดาห์แรกไปแล้ว โดยทั่วไปทารกในครรภ์จะมีความแข็งแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัยสำหรับการนวดเบาๆ เพื่อช่วยให้โลหิตมีการไหลเวียนไปทั่วร่างกายและส่งผ่านไปถึงทารกในครรภ์
ในทางกลับกัน หากคุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 31 สัปดาห์ เราไม่แนะนำให้คุณแม่ทำการนวดก่อนคลอดเองที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณแม่ไม่มีคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนวดคอยช่วยเหลือ เพราะเมื่อคุณแม่เข้าใกล้กำหนดคลอด (และกำลังจะกลายเป็นคุณแม่มือใหม่! 🙂) การนวดลงบนจุดนวดบางจุดอาจจะไปกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของมดลูกได้นั่นเอง แต่หากคุณแม่จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการนวดจริงๆ ก็อย่าลืมไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้งนะคะ
นี่คืออินโฟกราฟิกง่ายๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่เห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่ามีช่วงเวลาใดบ้างที่ควรหรือไม่ควรทำการนวดก่อนคลอด!
3 ขั้นตอนง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถนวดได้เองที่บ้าน
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับการปรนนิบัติจากคุณสามีภายใต้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยฮอร์โมนออกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความรัก) จะทำให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าบรรดาเหล่าคุณสามีจะไม่ใช่นักบำบัดที่มีประสบการณ์ในการนวดก่อนคลอดก็ไม่จำเป็นต้องกังวลไปค่ะ เพราะคุณแม่ยังสามารถ ‘ขอร้อง’ ให้พวกเขาช่วยเหลือได้ เพียงแต่ต้องสอนวิธีการลงน้ำหนักมือที่ถูกต้องและชี้ให้เห็นบริเวณที่สามารถนวดได้อย่างปลอดภัยให้กับบรรดาเหล่าคุณสามีได้เข้าใจกันด้วย (เซฟภาพอินโฟกราฟิกด้านบนของเราไปให้ดูได้เลยค่า)
และนี่คือขั้นตอนการปฏิบัติสำหรับคุณแม่ที่จะทำการนวดแบบ DIY
ขั้นตอนที่ 1
คุณแม่ควรหาหมอนมารองบริเวณท้อง หรือจะใช้หมอนรองบริเวณส่วนอื่นๆ ร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งการนวดในระหว่างตั้งครรภ์จะมีสองท่าที่ใช้กันทั่วไป คือ ท่านั่ง และท่านอนตะแคง
ท่านั่ง สำหรับท่านี้ ให้คุณแม่หันหน้าไปทางผนังหรือพนักพิงเก้าอี้ โดยวางหมอนไว้ด้านหน้าท้องเพื่อรองรับน้ำหนักและซัพพอร์ตบริเวณช่วงท้อง
ท่านอนตะแคง ให้คุณแม่ใช้หมอนหนุนช่วงท้องเพื่อให้คุณแม่อยู่ในท่าที่เหมาะสม รู้สึกสบาย และปลอดภัยกับลูกน้อยในครรภ์ขณะทำการนวด
ขั้นตอนที่ 2
หลังจากจัดท่าทางของคุณแม่กันเรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนนี้คุณพ่อก็สามารถเริ่มนวดกันได้แล้วค่ะ! อย่าลืมว่าคุณพ่อต้องนวดเบาๆ ในบริเวณที่ปลอดภัยเท่านั้นนะคะ โดยการนวดก่อนคลอดนั้นโดยทั่วไปจะใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 5 ถึง 10 นาที ก็สามารถช่วยบำรุงสุขภาพทั้งของคุณแม่และลูกน้อยได้แล้วค่ะ
ขั้นตอนที่ 3
การใช้น้ำมันนวดเพื่อช่วยให้การนวดนุ่มนวล อ่อนโยน และผ่อนคลายมากขึ้น การใช้น้ำมันนวดร่วมด้วยจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราแนะนำ เพราะจะทำให้ผิวลื่นขึ้น ทำให้คุณแม่และคุณพ่อสามารถควบคุมแรงกดได้ดีขึ้น แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าได้เลือกน้ำมันนวดที่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยบางชนิดก็ไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสมที่จะใช้กับคนท้องนะคะ
เพลิดเพลินไปกับการ นวดก่อนคลอด ด้วยน้ำมันนวดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
Mama’s Choice เราเข้าใจดีว่าการนวดสามารถสร้างความมหัศจรรย์ให้กับร่างกายและอารมณ์ของคุณแม่ได้อย่างไร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราทำการคิดค้น พัฒนา และผลิตน้ำมันนวดที่ปลอดภัยสำหรับการตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งสามารถยกระดับประสบการณ์การนวดของคุณแม่ไปได้อีกระดับ!
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการความรู้สึกสงบ สบายใจ และผ่อนคลาย น้ำมันนวด Mama’s Choice Relaxing Massage Oil ของเราเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะน้ำมันนวดของเรามีส่วนผสมของเกรปฟรุต ลาเวนเดอร์ และน้ำมันส้มที่ทำให้น้ำมันนวดของเราเป็นทรีตเมนต์ที่มีกลิ่นหอม สามารถช่วยผ่อนคลายและช่วยสร้างประสบการณ์ดีๆ สำหรับการนวดก่อนคลอดให้กับคุณแม่ไปได้พร้อมๆ กัน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการ นวดก่อนคลอด หรือ นวดขณะตั้งครรภ์
ประโยชน์หลักๆ ของการนวดก่อนคลอดที่น่าสนใจสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- มีการไหลเวียนของโลหิตที่ดียิ่งขึ้น การนวดช่วยให้เลือดและสารอาหารสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้อย่างไม่มีปัญหา อีกทั้งยังช่วยลดอาการบวมตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายคุณแม่ได้อีกด้วย
- ฮอร์โมนมีความเสถียร ถือเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่เกิดจากการมีการไหลเวียนของโลหิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน และการนวดก่อนคลอดยังสามารถช่วยคุณแม่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดเจ้าตัวน้อยได้ดีขึ้นอีกด้วย
- ช่วยลดความดันโลหิต การนวดก่อนคลอดสามารถช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตมีความสมดุล และทำให้คุณแม่สามารถคลอดเจ้าตัวเล็กได้ง่ายขึ้น
- สุขภาพจิตดีขึ้น การนวดจะทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโทซินตามธรรมชาติ ทำให้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ตื่นตัวมากขึ้น และเครียดน้อยลง
- ลดอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ การนวดก่อนคลอดเป็นวิธีที่ดีมากในการบรรเทาอาการปวดหลังของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์
- นอนหลับได้ดีขึ้น การนวดจะช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ทำให้คุณแม่รู้สึกวิตกกังวลน้อยลงและสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ตามเท่าที่ต้องการจนกว่าจะคลอดเจ้าตัวเล็กเพราะหลังจากที่ลูกน้อยคลอดออกมาแล้วนั้น การพักผ่อนอย่างเต็มที่แบบนี้คงจะหาไม่ได้ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้วล่ะค่ะ เพราะคุณแม่อาจต้องเผชิญกับการหลับ ๆ ตื่น ๆ ทุก ๆ 2 ถึง 3 ชั่วโมงเพื่อให้นมเจ้าตัวเล็กอย่างน้อย 3 ถึง 6 เดือนก่อนที่ลูกน้อยของคุณแม่จะสามารถนอนหลับได้สนิทตลอดทั้งคืน
DIY นวดก่อนคลอดทำเองได้แต่ต้องระวัง!
การนวดก่อนคลอดไม่ใช่กิจกรรมที่ถึงกับห้ามลองทำเองที่บ้าน เพราะสำหรับคุณแม่บางท่านแล้วอาจจะค่อนข้างเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการนวดก่อนคลอดกันเสียก่อน โดยเฉพาะหากคุณแม่ต้องการลองทำเองที่บ้าน มีอะไรบ้าง? มาดูกันค่ะ
- หากคุณแม่ไม่มีประสบการณ์การนวดมาก่อน แต่กำลังพยายามจัดการกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ เราแนะนำให้ลองจ้างนักบำบัดที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนวดก่อนคลอดมาช่วยให้บริการกันก่อน เพราะค่อนข้างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือคุณแม่จะเลือกไปสปาหรือสถานอาบอบนวดที่ให้บริการแก่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน
- ไม่ควรทำการนวดร่วมกับการบำบัดที่ใช้ความร้อน เช่น น้ำร้อน ห้องอบไอน้ำ จากุซซี่ หรือซาวน่า
- ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการนวดก่อนคลอด เพราะแพทย์อาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมให้กับคุณแม่โดยเฉพาะ
ทั้งหมดที่เราได้กล่าวมานี้ น่าจะทำให้คุณแม่เห็นภาพกันได้มากขึ้นแล้วว่าการนวดก่อนคลอดมีประโยชน์มากขนาดไหน อีกทั้งยังเป็นวิธีที่สะดวกและสามารถทำตามกันได้ง่ายๆ ที่บ้าน เพียงใช้เวลานวดสั้น ๆ แค่ 5 ถึง 10 นาที ก็ช่วยคุณแม่บรรเทาความเครียดได้แล้ว แต่หากคุณแม่ต้องการผ่อนคลายทั้งร่างกาย การจ้างหมอนวดหรือนักบำบัดที่มีประสบการณ์มาช่วยดูแลก็เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมเช่นกันนะคะ
สุดท้ายนี้ หากคุณแม่พบว่าคู่มือนี้มีประโยชน์ หรือหากมีคำถามหรือข้อเสนอแนะ ก็สามารถมาร่วมแบ่งความคิดเห็นกับเราได้ที่ Facebook หรือ Instagram ของเรา เราจะอ่านทุกข้อความและตอบทุกข้อสงสัยให้กับคุณแม่แน่นอนค่ะ 🙂
อ้างอิง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
‘การนวดออกซิโทซิน’ วิธีนวดผ่อนคลายแม่ท้องและนวดกระตุ้นน้ำนมแม่ให้นม
4 อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์ ต้องรับมืออย่างไรถึงจะดีขึ้น?
สารเคมีอันตรายที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เลี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice