หากคุณแม่รู้ตัวแล้วว่ากำลังจะมีน้อง สิ่งสำคัญคือคุณแม่กับคุณพ่อต้องพากันไปพบแพทย์นะคะ เพื่อให้คุณแม่และแพทย์ได้กำหนดวันนัดหมายต่างๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ในครั้งนี้ ซึ่งการนัดหมายในระหว่างตั้งครรภ์นี้เองที่เรียกว่าการ ‘ฝากครรภ์’ ค่ะ แต่ก่อนอื่นเลย เรามาดูอาการที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แบบคร่าวๆ กันก่อน ว่าจะมีอาการอะไรบ้างค่ะ
อาการที่แสดงว่าตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายโดยทั่วไปหากคุณตั้งครรภ์ เช่น
- ประจำเดือนไม่มา
- ชีพจร/อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ
- คลื่นไส้อาเจียน
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- รู้สึกกระหายน้ำบ่อย
- หน้าอกขยาย
- ผิวรอบๆ หัวนมคล้ำขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของผิว – ผู้หญิงบางคนอาจมีรอยคล้ำตามข้อพับของร่างกาย
- มีอาการคัน
- มีหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น
ทำไมต้องไป ฝากครรภ์?
การฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์ ผดุงครรภ์ และคนอื่นๆ ได้ดูแลสุขภาพของคุณแม่ในช่วงนี้ได้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง แม้ว่าการตั้งครรภ์ของคุณแม่จะดำเนินไปด้วยดี และคุณแม่ก็ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แต่สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องไปตามนัดเพื่อให้แพทย์สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีที่คุณแม่จะถามคำถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น ในแต่ละไตรมาสจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อาการต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ และการคลอดธรรมชาติ หรือคำถามเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อยหลังคลอด นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถขอคำปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ได้ รวมถึงคำแนะนำด้านสุขภาพจิตหรือการเลือกทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการเลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญการฝากครรภ์ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก เช่น
- เป็นการตรวจสุขภาพของคุณแม่เป็นระยะ
- ตรวจสอบร่างกายและสภาพจิตใจของคุณแม่และทารกในครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เครียด หรือวิตกกังวลจนเกินไป
- หากคุณแม่มีปัญหาเรื่องร่างกายและจิตใจ แพทย์จะทำการรักษาให้ได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้กระทบต่อทารกในครรภ์
การ ฝากครรภ์ มีการตรวจอะไรบ้าง?
ขั้นตอนต่างๆ ของการฝากครรภ์ขึ้นอยู่กับ
- สุขภาพของคุณแม่ และความเสี่ยงที่คุณแม่หรือลูกน้อยอาจมี
- ระยะเวลาตั้งครรภ์ของคุณแม่
- ปัญหาต่างๆ ที่คุณแม่อาจเจอ
นอกจากนี้ก็จะมีการตรวจสอบ สแกน ทดสอบ และคำแนะนำต่างๆ จากแพทย์ เช่น
- เมื่อถึงกำหนดคลอด คุณแม่จะอยู่ในช่วงไตรมาสใด และการกำหนดคลอดนั้นสำคัญกับคุณแม่และลูกน้อยอย่างไรบ้าง
- แพทย์จะทำการซักประวัติการรักษา สุขภาพทั่วไป และการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ ของคุณแม่
- พูดคุยเกี่ยวกับยาที่คุณแม่ทานประจำ
- ตรวจคัดกรองปากมดลูกอยู่เสมอ
- ตรวจสุขภาพจิตของคุณแม่ และช่วยเหลือหากคุณแม่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
- ตรวจความดันโลหิต น้ำหนักตัว และตรวจปัสสาวะ
- มีการตรวจเลือดและคัดกรอง
- ให้คำปรึกษาเรื่องการกินเพื่อสุขภาพ และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
- สัมผัส วัดหน้าท้องของคุณแม่ และฟังเสียงหัวใจของทารก
- ถามคุณแม่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่บ้าน ที่ทำงาน และความช่วยเหลือที่คุณแม่ได้รับ ซึ่งหากคุณแม่กำลังประสบปัญหาเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว นี่เป็นโอกาสดีที่คุณแม่จะขอความช่วยเหลือได้
- ตรวจร่างกายคุณแม่ หากมีอาการผิดปกติ
- วางแผนการคลอด
- ให้คำแนะนำ หากการคลอดลูกไม่เป็นไปตามแผน
- ให้ข้อมูลของชั้นเรียนฝากครรภ์
- ให้คำแนะนำในการพาลูกน้อยกลับบ้าน การป้อนอาหาร และการดูแลอื่นๆ
การฝากครรภ์แต่ละขั้นตอนโดยย่อ (ขึ้นอยู่กับแพทย์)
- 16 สัปดาห์แรก จะเป็นการบอกผลการทดสอบทางร่างกายต่างๆ แพทย์จะมีการพูดคุยกับคุณแม่ และหากจำเป็นแพทย์อาจจะให้คุณแม่ทานธาตุเหล็กเพิ่ม ในกรณีที่คุณแม่มีเฮโมโกลบินน้อยกว่า 110 ก./ลิตร
- 18-20 สัปดาห์ การนัดหมายในช่วงนี้จะเป็นกรณีที่ตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีโครงสร้างที่ผิดปกติ หรือตรวจพบว่ารกไปบังปากมดลูกภายใน ซึ่งแพทย์จะทำการสแกนซ้ำในอีก 32 สัปดาห์
- 28 สัปดาห์ ครั้งนี้นอกจากการทำหัตถการตามปกติแล้ว คุณแม่อาจจะต้องตรวจหาภาวะโลหิตจางและแอนติบอดีต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ ตรวจสอบและรักษาฮีโมโกลบินที่มีค่าน้อยกว่า 105 ก./ลิตร และแพทย์อาจฉีดวัคซีนไอกรนให้ด้วย
- 34 สัปดาห์ แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการคลอด รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการปวดต่างๆ และการใช้พลังงานในร่างกาย นอกจากนี้แพทย์อาจทำการวัดความดันโลหิตและวิเคราะห์ผลปัสสาวะด้วย
- 36 สัปดาห์ นอกจากตรวจตามปกติแล้ว แพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งของทารกในครรภ์ด้วยรวมถึงมีการให้ข้อมูลต่างๆ เช่น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลทารกที่เพิ่งคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และวิตามินเค
- 38 สัปดาห์ ทำหัตถการตามปกติ
- 41 สัปดาห์ นอกจากตรวจตามขั้นตอนปกติแล้ว แพทย์จะทำการคลายเยื่อหุ้มเซลล์ และแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวก่อนคลอดอีกครั้ง
การฝากครรภ์ใช้ระยะเวลานานแค่ไหน?
หากนี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก และคุณแม่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เลย ก็เป็นไปได้ว่าแพทย์จะทำการนัดหมายคุณแม่ประมาณ 8-10 ครั้ง แต่หากนี่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรกของคุณแม่ แพทย์อาจทำการนัดหมาย 7-9 ครั้งอย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งในการนัดหมายอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าการตั้งครรภ์ของคุณแม่ปกติดีไหม มีปัญหาที่พบเจอระหว่างตั้งครรภ์หรือเปล่า
เพราะหากคุณแม่มีปัญหาระหว่างที่ตั้งครรภ์ แพทย์ก็อาจต้องเพิ่มจำนวนการนัดหมาย และคุณแม่อาจต้องตรวจและสแกนร่างกายเพิ่มเติม นอกจากนี้คุณแม่สามารถนัดพบแพทย์ได้เอง หากคุณแม่มีปัญหาหรือความกังวลต่างๆ ค่ะ
สามีไปฝากครรภ์ด้วยได้ไหม?
เป็นเรื่องที่ดีนะคะที่คุณพ่อจะสนับสนุนอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องการคลอดลูก แต่ไม่ใช่แค่เพียงคุณพ่อเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ หรือเพื่อนฝูง ก็สามารถที่จะไปฝากครรภ์ตามนัดเป็นเพื่อนคุณแม่ได้หมดค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแผนการคลอดลูก ที่หากคุณแม่ต้องการให้พวกเขาช่วยเหลือในระหว่างการคลอด พวกเขาก็ควรอย่างยิ่งที่จะไปฝากครรภ์เป็นเพื่อนคุณแม่เพื่อฟังคำแนะนำจากแพทย์ค่ะ
คำถามที่คุณแม่อาจถูกถามในระหว่างการฝากครรภ์
แพทย์อาจถามคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
- ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายวันไหน?
- สุขภาพของคุณแม่ตอนนี้เป็นอย่างไร?
- คุณแม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงหรือได้รับการผ่าตัดมาก่อนไหม?
- เคยตั้งครรภ์หรือแท้งบุตรมาก่อนหน้านี้ไหม?
- สอบถามเรื่องชาติพันธุ์ของคุณแม่และคุณพ่อ เพื่อที่จะดูว่าลูกน้อยของคุณจะมีความเสี่ยงในเรื่องของพันธุกรรมบางอย่างไหม
- ครอบครัวของคุณแม่เคยมีฝาแฝดไหม?
- คุณแม่และคุณพ่อทำงานอะไร พักอาศัยอยู่แบบไหน เพื่อที่จะดูว่าสังคมของคุณแม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่?
- คุณแม่รู้สึกอย่างไร? เคยซึมเศร้าหรือไม่?
ฝากครรภ์ที่ไหนดี?
แนะนำให้คุณแม่ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลที่สะดวกที่สุด เพราะหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจะได้ไปโรงพยาบาลทันค่ะ แต่ถ้าคุณแม่กำลังรักษาโรคบางอย่างอยู่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง คุณแม่ก็ควรที่จะไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลนั้นแทนค่ะ แต่ในกรณีที่โรงพยาบาลที่คุณแม่รักษาประจำนั้นอยู่ไกล คุณแม่ก็ควรขอประวัติและผลการรักษาเพื่อเอาไปให้แพทย์ที่คุณแม่จะไปฝากครรภ์แทนค่ะ
แนะนำที่ฝากครรภ์
- โรงพยาบาลนครธน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 17,900 บาท หรือผ่อน 0% 4 เดือน
- โรงพยาบาลเจ้าพระยา ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 19,900 บาท
- โรงพยาบาลกรุงเทพ ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 82,500 บาท
- โรงพยาบาลศิครินทร์ คิดราคาเป็นครั้ง ๆ ไป โดยครั้งแรกจะราคาประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/ครั้ง ครั้งต่อไปจะแล้วแต่การตรวจของแพทย์
- โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 6,900 บาท
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยในครรภ์จะคลอดออกมาอย่างปลอดภัย?
ในระหว่างการฝากครรภ์ทั้งคุณแม่และลูกน้อยจะได้รับการประเมินและตรวจสอบอยู่เสมอ เช่น
- การวัดขนาดหน้าท้องของคุณแม่
- การติดตามเรื่องน้ำหนักของคุณแม่ในการนัดแต่ละครั้ง
- การสแกนอัลตราซาวนด์เพื่อวัดการเจริญเติบโตและตำแหน่งของทารกในครรภ์
- แพทย์จะแสดงแผนภูมิการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ โดยคุณแม่อาจจะต้องนับความถี่ที่ทารกเตะท้องภายใน 12 ชั่วโมง
- วัดอัตราการเต้นหัวใจของลูกน้อย หรืออาจใช้เครื่องที่เรียกว่า Daptone ที่จะช่วยให้คุณแม่ได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจลูกน้อย
- อาจมีการใช้เครื่อง Cardiotocography (CTG) – ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ประเมินสภาพของทารก หากคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีค่ะ
การสแกนด้วยอัลตราซาวนด์คืออะไร?
การสแกนด้วยอัลตราซาวนด์ คือการที่คุณแม่จะได้เห็นลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ การสแกนสามารถบอกข้อมูลได้มากมายเกี่ยวกับลูกน้อย รวมถึงการตรวจสอบได้ว่าลูกน้อยของคุณเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติหรือไม่ การสแกนจะสแกนโดยนักถ่ายภาพรังสีหรือพยาบาลผดุงครรภ์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษในด้านอัลตราซาวนด์ หรือเรียกอีกชื่อว่านักโซโนกราฟ แต่บางโรงพยาบาลแพทย์ก็จะเป็นผู้อัลตราซาวนด์ให้ค่ะ
สำหรับขั้นตอนการอัลตราซาวนด์ แพทย์จะวางเจลเย็นบนท้องของคุณแม่ แล้วเคลื่อนหัวเครื่องแปลงสัญญาณบนท้องของคุณแม่ เพื่อดูมุมมองของทารก โดยจะมีคลื่นเสียงความถี่สูงที่ใช้เพื่อส่งภาพลูกน้อยไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้การอัลตร้าซาวด์ถูกใช้ในทางการแพทย์มาเกือบ 30 ปีแล้ว และการวิจัยทางการแพทย์ก็ไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรทำโดยไม่มีแพทย์อยู่ด้วยนะคะ
สุดท้ายนี้ เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อย่าลืมไปฝากครรภ์นะคะ เพื่อที่แพทย์จะได้ดูแลคุณแม่และลูกน้อยตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ได้อย่างทั่วถึง และเพื่อป้องกันอันตรายหรืออาการต่างๆ ที่ผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ตั้งครรภ์ค่ะ
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice