คุณแม่มือใหม่มักได้รับคำแนะนำให้ ‘อยู่ไฟหลังคลอด’ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา โดยเชื่อว่าการอยู่ไฟจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว ช่วยให้แผลฝีเย็บแห้งเร็วและลดการอักเสบ กระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่และขับน้ำคาวปลา ช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ช่วยปรับสมดุลในร่างกาย อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์หลายท่าน อาทิ
- คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ อธิบายว่า “ไม่จำเป็นต้องอยู่ไฟ เนื่องจากการคลอดในโรงพยาบาลไม่ว่าจะโดยการผ่าตัดหรือคลอดเอง คุณหมอจะให้ยาที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เพื่อป้องกันการตกเลือดและช่วยขับน้ำคาวปลาเรียบร้อยแล้ว”
- ส่วน ผศ. นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ จากเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ก็ให้คำแนะนำว่า “การอยู่ไฟ “ไม่จำเป็น” สำหรับคุณแม่หลังคลอด ไม่มีการศึกษาใดบอกว่าอยู่ไฟช่วยให้ร่างกายของผู้หญิงแข็งแรง มดลูกเข้าอู่เร็ว หรือจะไม่ร้อนหนาวสะท้านยามแก่ตัว แต่ข้อดีของการอยู่ไฟ คือ คุณแม่มีความผ่อนคลาย เหมือนได้กลับไปนวดสปา และการอยู่ไฟมักมีการประคบอุ่นที่เต้านมและนวดเต้าเบาๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตไปที่เต้านม ตามทฤษฎี การนวดนั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มน้ำนมแต่อย่างใด แต่ความฟินจากการนวดนั้นเพิ่มน้ำนมได้ ยิ่งแม่ผ่อนคลายจากความกังวล ถ้าได้หมอนวดที่เจ๊าะแจ๊ะหน่อย ชวนคุยเก่งๆ ก็บรรเทาอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ไม่มากก็น้อยทีเดียว”
ดังนั้น หากคุณแม่อยากอยู่ไฟก็อยู่ได้ค่ะ แต่ที่คุณหมอทั้งสองให้ความสำคัญมากๆ เลย คือการอยู่ไฟจะต้องไม่ขัดกับการให้นมลูก
การอยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร
การอยู่ไฟ หมายถึงกระบวนการหนึ่งในการดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดในระยะแรก ซึ่งครอบคลุมถึงการนอนหรือนั่งผิงไฟ การเข้ากระโจม การอาบสมุนไพร การนั่งถ่าน การทับหม้อเกลือ การนวด การประคบ การรับประทานยา การรับประทานอาหารเป็นต้น โดยเชื่อว่าการอยู่ไฟของคุณแม่หลังคลอด จะเป็นการปรับสมดุลของธาตุในร่างการที่แปรปรวนไปจากการคลอด
การอยู่ไฟในสมัยโบราณจะให้ผู้คลอดนอนอยู่บนแผ่นกระดานใหญ่แล้วเอากองไฟมาก่อไว้ใต้กระดาน เรียกว่า ‘อยู่ไฟญวน’ หรือ ‘ไฟแคร่’ และมีแบบกองไฟอยู่ข้างๆ เรียก ‘อยู่ไฟไทย’ หรือ ‘ไฟข้าง’ และคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟนานถึง 7-15 วันและห้ามออกจากเรือนไฟโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและไม่สบายได้ นอกจากนี้ คุณแม่ต้องอาบน้ำร้อนทุกวัน ดื่มเฉพาะน้ำอุ่น และงดอาหารแสลงหลายอย่าง ซึ่งอาหารหลักก็คือการกินข้าวกับเกลือหรือกับปลาเค็ม เพราะคนโบราณเชื่อว่าจะไปทดแทนเกลือที่ร่างกายต้องเสียไปทางเหงื่อที่ไหลออกระหว่างการอยู่ไฟได้ ซึ่งการอยู่ไฟแบบนี้ถือว่าเอ็กซ์ตรีมและค่อนข้างอันตรายนะคะ
การอยู่ไฟสมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจากการให้ความร้อนทั่วตัวมาเป็นการให้ความร้อนเฉพาะบริเวณหน้าท้อง โดยนิยมใช้กัน 2 แบบ ได้แก่ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางบริเวณหน้าท้อง หรือ ใช้ชุดคาดไฟซึ่งเป็นชุดที่ประกอบไปด้วยกล่องอะลูมิเนียมสำหรับใส่ชุดซึ่งเป็นเชื้อไฟ เมื่อจุดไฟแล้วก็ใส่กล่องไว้ กล่องจะร้อน
ช่วงหลังได้มีการส่งเสริมให้มีการอยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์กันมากขึ้น จึงมีการอาบและอบสมุนไพรเป็นกระบวนการหนึ่งของการอยู่ไฟด้วย โดยมีการนวดประคบ การเข้ากระโจม การอาบน้ำสมุนไพร และลงท้ายด้วยการนาบหม้อเกลือ มีรายละเอียดดังนี้
- การนวดประคบ จะใช้ลูกประคบร้อนที่ห่อไปด้วยสมุนไพรต่างๆ มากกว่า 10 ชนิดมานวดคลึงตามบริเวณร่างกายและเต้านม หรือนั่งทับลูกประคบ 1 ลูก เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อยและรักษาแผลหลังคลอด
- การเข้ากระโจมและอบสมุนไพร การเข้ากระโจมอบไอน้ำด้วยสมุนไพรนานาชนิดจะช่วยให้รูขุมขนได้ขับของเสียและทำความสะอาดผิวให้เปล่งปลั่งขึ้น ในขั้นตอนนี้จะเป็นการอบตัวด้วยไอน้ำร้อนจากการต้มสมุนไพรหลายชนิด โดยให้คุณแม่หลังคลอดเข้าไปนั่งบนม้านั่ง แล้วเอาผ้าห่มทำกระโจมคลุมไว้ อาจให้ศีรษะโผล่ได้ แล้วเอาหม้อน้ำที่ต้มเดือดไปใส่ไว้ภายในกระโจม ไม่ควรนานเกิน 15 นาทีในแต่ละครั้ง และต้องระวังอย่าให้น้ำร้อนลวก
- การนาบหม้อเกลือ เป็นการใช้หม้อเกลือมาประคบหน้าท้องและตามส่วนต่างๆ ของร่างกายพร้อมทั้งนวดไปด้วย ความร้อนจากหม้อเกลือจะช่วยให้รูขุมขนเปิด สมุนไพรซึมผ่านลงผิวหนังไปช่วยขับน้ำคาวปลาและของเสียออกมาตามรูขุมขน และช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเข้าอู่เร็วขึ้น
- อาจมีบริการอื่นๆ เช่น การประคบ-นั่งอิฐ การนวดคลายเส้นตามกล้ามเนื้อตามจุดต่างๆ ของร่างกาย การดื่มน้ำสมุนไพร การสครับขัดบำรุงผิว เป็นต้น
ข้อควรคำนึงหากต้องการอยู่ไฟหลังคลอด
คุณหมอสุธีราให้คำแนะนำกรณีที่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอด ดังนี้
- ให้คำนึงถึงความต้องการในการดูดนมของลูก
- ระวังสารพอกตัวที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หากแม่ไม่ได้อาบน้ำให้สะอาด ลูกมาดูดที่เต้าจะมีปัญหาท้องเสีย
- ระวังยาที่ให้ทานขณะอยู่ไฟบางชนิด อาจทำให้ลูกมีปัญหาแพ้เป็นผื่นหรือท้องเสียตามมา
ดังนั้น หากต้องการอยู่ไฟจริงๆ คุณหมอแนะนำให้เลือกที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ความสะอาด และไม่ขัดต่อการให้นมลูกจากเต้าอย่างต่อเนื่อง
ข้อห้ามในการ อยู่ไฟหลังคลอด
อาการของคุณแม่หลังคลอดที่ห้ามอยู่ไฟ มีดังนี้
- คุณแม่หลังคลอดที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส
- คุณแม่หลังคลอดที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก โรคไต
- คุณแม่หลังคลอดที่มีการตกเลือด
ข้อควรระวังขณะ อยู่ไฟหลังคลอด
- การอยู่ไฟหลังคลอดเพื่อปรับสมดุลธาตุ เป็นการใช้ความร้อนเพื่อการบำบัด โดยปริมาณความร้อนที่อุ่นพอดี คือ 40-46 องศาเซลเซียส เวลาที่ใช้คือ 3-30 นาที หากใช้ความร้อนปริมาณสูงและนานเกินไปอาจทำให้เกิดความร้อนสะสม จนทำลายเนื้อเยื่อและทำให้เกิดการไหม้พองขึ้นได้
- หากผ่าตัดคลอด ควรรอให้แผลผ่าตัดหายก่อนอย่างน้อย 1 เดือนหลังคลอด
- สถานที่ทำการอยู่ไฟถ่าน ควรให้มีอากาศถ่ายเท แสงสว่างเพียงพอ
- ไม่ควรนอนหลับขณะอยู่ไฟ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเกิดไฟไหม้ได้
- การอยู่ไฟที่ร้อนเกินไปจะทำให้เสียน้ำมาก จึงควรดื่มน้ำเพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป
ข้อสำคัญในดูแลตัวเองหลังคลอด
คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังคลอดดังนี้ “หลังคลอดแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อการซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดจากการคลอด และการสร้างน้ำนม ไม่ต้องเน้นพริก หรือของเผ็ด ถ้าไม่ชอบ เพราะไม่ได้ช่วยอะไร แถมยังอาจทำให้แม่ปวดท้องหรือท้องเสียได้ ถ้าลำไส้ของแม่ไม่เคยชิน ส่วนการดื่มน้ำเย็นไม่มีอันตรายค่ะ เย็นก็ได้ อุ่นก็ดี ขอให้ดื่มน้ำให้มากพอเพียงกับการผลิตน้ำนมให้ลูก”
โดยสรุปแล้ว การอยู่ไฟไม่ได้จำเป็นสำหรับคุณแม่หลังคลอด แต่ที่สำคัญคือ การดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยในทางร่างกาย คุณแม่ต้องดูแลแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ โดยกิจกรรมที่คุณแม่ไม่ควรทำในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด ได้แก่
- ไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักของทารก
- ไม่ควรออกแรงแบ่งมากๆ หรือนานๆ
- ไม่ควรขึ้น-ลง บันไดบ่อยๆ
- ไม่ควรขับรถโดยไม่จำเป็น
- ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ทำได้เฉพาะท่ากายบริหารเบาๆ
อ่านเพิ่มเติม : 7 ความเชื่อผิดๆ ที่คุณแม่หลังคลอดอย่าหาทำ!
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice