ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นหนึ่งในเรื่องที่แม่ท้องเป็นกังวลมาก เพราะจัดเป็นเรื่องอันตรายลำดับแรกๆ อีกทั้งยังเป็นภัยเงียบที่แม่ท้องต้องระมัดระวัง เพราะแม่ท้องบางท่านอาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษ เนื่องจากไม่มีอาการแสดงบ่งบอกเป็นสัญญาณ ในทางกลับกัน สำหรับแม่บางท่านร่างกายอาจจะส่งสัญญาณเตือนบางอย่างออกมาให้เห็น
สำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น แม้ว่าลูกน้อยในครรภ์จะมีสุขภาพแรงมากแค่ไหน แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการจะรุนแรงมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ตามมาได้
พอได้รู้อย่างนี้แล้ว ภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงถือเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความกังวลใจกับแม่ท้องกันอย่างมากๆ แต่จะทำอย่างไรให้ความกังวลใจเหล่านั้นลดลงไปได้ ในบทความนี้ Mama’s Choice ได้รวบรวมความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษมาฝากกันแล้วค่ะ
ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร? เกิดจากสาเหตุอะไร?
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ เกิดจากการมีความดันโลหิตสูงและตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถตรวจพบได้โดยการเข้ารับตรวจอย่างละเอียดกับแพทย์ เช่น การตรวจปัสสวะ การตรวจเกล็ดเลือด และการตรวจหาความผิดปกติของค่าตับและค่าไต
โดยภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดกับแม่ท้องที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีข้อมูลระบุว่าจะมีแม่ท้องประมาณ 2 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ จาก 100 เปอร์เซ็นต์ ที่มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดย 80% จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ และอีก 20% จะมีอาการจะรุนแรงมาก ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่มีการระบุอย่างแน่ชัด เนื่องจากมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็เชื่อว่ามันอาจเริ่มต้นจากความผิดปกติของรก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้หล่อเลี้ยงทารกตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยปกติแล้ว ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หลอดเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้สามารถส่งเลือดไปยังรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับแม่ท้องที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ดูเหมือนว่าหลอดเลือดเหล่านี้จะไม่มีการพัฒนาและไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นผลทำให้หลอดเลือดมีความแคบลงและตอบสนองต่อสัญญาณของฮอร์โมนต่างไปจากเดิม
นอกเหนือจากนี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การไหลเวียนของเลือดไม่เพียงพอไปยังมดลูก เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือด มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือมียีนส์บางชนิดที่ผิดปกติไปในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลย และควรใส่ใจสังเกตตนเองอยู่เสมอเพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที
ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีอาการอย่างไร?
แม่ท้องที่กำลังตกอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น อาการที่สามารถตรวจพบได้ คือ มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และในบางครั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว ปวดท้องส่วนบน (ชายโครงด้านขวา) คลื่นไส้อาเจียน หรือหากมีความรุนแรงมากอาจเกิดอาการชัก เกร็ง และหมดสติได้เช่นกัน ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้แม่ท้องมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษ? ดูได้จากรายการด้านล่างนี้เลยค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ
- ประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษ แม่ท้องที่มีประวัติส่วนตัวหรือประวัติคนครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษให้กับแม่ท้องได้
- อายุ แม่ท้องที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือ มากเกินกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
- การตั้งครรภ์ครั้งแรก แม้ว่าแม่ท้องจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่หากเป็นท้องแรกก็มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้เช่นเดียวกัน
- ตั้งครรภ์กับคู่สมรสใหม่ การตั้งครรภ์กับคู่สมรสรายใหม่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่าการตั้งครรภ์หลาย ๆ ครั้งกับคู่สมรสคนเดิม
- ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง อย่างที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าความดันโลหิตสูงนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้น สำหรับแม่ท้องที่มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่แล้ว ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ
- โรคอ้วน โรคอ้วนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดหลาย ๆ โรคตามมา ซึ่งรวมถึงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษด้วยเช่นกัน
- การตั้งครรภ์ลูกแฝด ภาวะครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด ไม่ว่าจะเป็นแฝดสองหรือแฝดสาม
- ระยะห่างในการตั้งครรภ์ ระยะห่างการตั้งครรภ์ระหว่างลูกคนแรกและคนที่สองไม่ควรห่างกันน้อยกว่าสองปี หรือมากกว่า 10 ปี เพราะมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้
- มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ไมเกรน เบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้ตัวเองจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
สัญญาณอันตรายที่กำลังบ่งบอกถึงภาวะ ครรภ์เป็นพิษ!
แม้ว่าภาวะครรภ์เป็นพิษจะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดเพื่อทำการวินิจฉัยความรุนแรงและทำการรักษาอย่างถูกต้อง แต่ก็มีความผิดปกติของร่างกายบางอย่างที่อาจกำลังบ่งบอกว่าแม่ท้องกำลังตกอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษ และคุณแม่สามารถสังเกตได้เอง มีอะไรบ้าง? มาดูกันค่ะ
- มีอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า และหน้า
- น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินสัปดาห์ละ 1.5 – 2 กิโลกรัม
- ปวดศีรษะรุนแรง รับประทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
- อ่อนแรง มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง หายใจลำบาก
- เกิดความผิดปกติกับทารก ทารกดิ้นน้อยลง โตช้า (สังเกตได้จากท้องไม่โตขึ้นตามอายุครรภ์)
- ความดันโลหิตสูง มีความดันโลหิตสูงเกินกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว ตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
- ปวดท้อง ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา
ซึ่งหากคุณแม่พบเจอกับสัญญาณอันตรายเหล่านี้ เราขอแนะนำให้คุณแม่รีบไปพบกับแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้
- การจำกัดการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลต่อหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปยังรก ส่งผลให้ทารกอาจได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ รวมไปถึงได้รับสารอาหารน้อยลงไปด้วย อีกทั้งยังสามารถส่งผลกระทบอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
- การคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด โดยการผ่าคลอดเพื่อช่วยชีวิตของคุณแม่และลูกน้อย
- รกลอกตัว ภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดรกลอกตัว ซึ่งเป็นภาวะที่รกแยกออกจากผนังด้านในของมดลูกก่อนคลอด อย่างกะทันหันและรุนแรงจนทำให้มีเลือดออกมามาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูก
- อีแคลมป์เซีย เมื่อภาวะครรภ์เป็นพิษไม่ได้รับการควบคุมจะทำให้คุณแม่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษร่วมกับอาการชัก และหมดสติได้
- อวัยวะอื่นๆ เสียหาย ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อไต ตับ ปอด หัวใจ หรือดวงตาได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองหรือสมองบาดเจ็บได้เช่นเดียว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต ซึ่งคุณแม่จะยิ่งได้รับความเสี่ยงมากขึ้น หากคุณแม่เคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษหรือเคยคลอดก่อนกำหนดกับการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ ครรภ์เป็นพิษ
สำหรับครรภ์เป็นพิษนั้น ในปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีป้องกันและการรักษาที่ชัดเจน เนื่องจากเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่หากพบว่ามีอาการรุนแรงและสามารถทำการคลอดได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าคลอดทันที แต่หากมีอายุครรภ์น้อยและไม่สามารถผ่าคลอดก่อนกำหนดได้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไปก่อน ทั้งนี้ก็ยังมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับแม่ท้องทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ให้ได้ลองปรับเปลี่ยนและนำไปปฏิบัติตามกัน โดยแพทย์ได้แนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตาม ดังนี้
- ไปฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดอย่างเป็นประจำเพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยคุณแม่ควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับแม่ท้อง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม รวมไปถึงของทอดและของมัน
- ดื่มน้ำให้มากๆ โดยปริมาณที่แนะนำคือ 6 – 8 แก้วต่อวัน
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์ตลอดการตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตร
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี คุณแม่อาจสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ด้วยการรับประทานยาและอาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งจะต้องได้รับคำแนะนำและคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น
- ทานแอสไพรินขนาดต่ำ หากแพทย์พบว่าคุณแม่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น การตั้งครรภ์ลูกแฝด มีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เป็นโรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคภูมิแพ้ตนเอง แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่รับประทานแอสไพรินขนาดต่ำทุกวัน (81 มก.) โดยจะเริ่มหลังผ่านการตั้งครรภ์ไปแล้ว 12 สัปดาห์
- อาหารเสริมแคลเซียม สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะขาดแคลเซียมก่อนตั้งครรภ์ และไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์อาจสั่งแคลเซียมให้คุณแม่ได้นำไปรับประทานเสริมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความรู้เกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษที่เราได้นำมาฝากให้กับคุณแม่กัน และเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด หากคุณแม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษากับแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดและหาวิธีป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมก่อนที่จะตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้ทำการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเองและลูกน้อยของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ การเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ ตลอดจนถึงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วนั้น การดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ตามฉบับแม่ท้องให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงก็ยังต้องทำกันอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอนะคะ
อ้างอิง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
แม่สายฟิตต้องรู้! รวบตึงวิธีการออกกำลังกายสำหรับแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส
4 อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์ ต้องรับมืออย่างไรถึงจะดีขึ้น?
ไขทุกข้อข้องใจที่ ‘แม่ตั้งครรภ์’ และ ‘แม่ให้นม’ อยากรู้เกี่ยวกับโควิด-19
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice