การผ่าคลอดกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ‘ผ่าคลอด’ บนโลกอินเทอร์เน็ต ถูกค้นหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ที่ต้องการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
ในปัจจุบัน มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้คุณแม่มือใหม่เลือกตัดสินใจที่จะใช้วิธีการผ่าตัดทำคลอดแทนการคลอดเองแบบธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของคุณแม่เอง หรือเป็นคำแนะนำจากสูตินรีแพทย์ผู้ดูแล
การผ่าตัดคลอดในปัจจุบัน มีอัตราสูงถึง 1 ใน 5 จากผู้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 3 ใน 5 ภายในปี 2030 – องค์กรการอนามัยโลก (WHO)
ในทางกลับกัน ก็มีแคมเปญรณรงค์ให้ลดการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นจากหลายๆ โรงพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งตรงกับความเห็นจากทางองค์การอนามัยโลก เพราะถึงแม้ว่าการผ่าตัดคลอดจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสำหรับคุณแม่และทารกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่เอง สำหรับคุณแม่ที่เลือกการผ่าตัดคลอด แพทย์ที่ดูแลจะช่วยวางแผนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ไปจนถึงการดูแลตัวเองหลังการผ่าคลอด
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ที่ยังมีความลังเลใจกันอยู่ ในบทความนี้ Mama’s Choice ขอพาคุณแม่ทุกท่านมาทำความรู้จักเกี่ยวกับการผ่าคลอดที่ครอบคลุมในทุกๆ มิติ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้คุณแม่สามารถตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและลูกน้อยกันได้ในอนาคตนะคะ
ทำความรู้จักการ ‘ผ่าคลอด’
การผ่าคลอด (Ceasarean Section) หรือที่เรียกกันแบบย่อๆ ว่า C-Section เป็นคำศัพท์ที่คุ้นเคยกันในวงการแพทย์ ซึ่งในปัจจุบัน จัดเป็นคำค้นหายอดฮิตของบรรดาเหล่าคุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการคลอดแบบธรรมชาติ วิธีนี้จะทำให้คุณแม่ไม่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดระหว่างรอคลอด นอกเหนือจากนี้ สำหรับคุณแม่บางท่านอาจได้รับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อื่นๆ ทำให้จำเป็นต้องเลือกการผ่าตัดคลอดแทนการคลอดธรรมชาติ
สำหรับการผ่าตัดคลอด แพทย์จะใช้วิธีการบล็อกหลังเพื่อให้บริเวณช่วงล่างของร่างกายคุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าตัด แต่คุณแม่ก็ยังมีสติรับรู้อยู่ตลอดทั้งกระบวนการ ขณะเดียวกัน ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องให้คุณแม่ดมยาสลบ ตัวอย่างเช่น เกิดกรณีฉุกเฉินที่ต้องใช้ความเร่งรีบเพื่อไม่เกิดอันตรายแก่ชีวิตของคุณแม่เองและทารกในครรภ์ เป็นต้น
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คุณแม่ต้องผ่าคลอด สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- ถือฤกษ์งามยามดี มีหลายครอบครัวเลยทีเดียวที่ถือฤกษ์ดีเป็นหลัก ทันทีที่รู้กำหนดสัปดาห์คลอดคร่าว ๆ แล้ว สมาชิกในบ้านต่างก็เร่งรีบไปหาฤกษ์ที่เหมาะสมสำหรับการผ่าคลอดกันเลยทีเดียว
- กลัวการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ อีกหนึ่งเหตุผลส่วนตัวสำหรับคุณแม่หลายๆ ท่านที่รู้สึกกลัวกับการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ ไม่ว่าจะถูกโน้มน้าวขนาดไหนก็ยังไม่สามารถทำใจกันไม่ได้อยู่ดี ใช่ไหมล่ะคะ?
- พบความผิดปกติต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกท่าน เช่น รกเกาะต่ำ ครรภ์เป็นพิษ มีการติดเชื้อผ่านทางช่องคลอด เป็นต้น
- กระดูกเชิงกรานแคบ สำหรับคุณแม่ที่มีกระดูกเชิงกรานที่แคบ ในขณะทารกตัวใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ผ่าคลอด
- ทารกมีความผิดปกติ ทารกมีหัวใจเต้นช้าลง ทารกตกอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ในกรณีนี้แพทย์จะให้ทำการผ่าคลอดทันที
- ทารกอยู่ผิดตำแหน่ง สำหรับกรณีนี้ อาจเกิดขึ้นจากการที่ทารกไม่กลับศีรษะหรืออยู่ในท่านอนขวางเมื่อครบกำหนดคลอด
- ตั้งครรภ์แฝด คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นแฝดสองหรือแฝดสาม แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย
ในปัจจุบัน การผ่าตัดทำคลอดนั้นมีความปลอดภัยที่สูงมาก อีกทั้งยังใช้เวลาไม่นานซึ่งต่างจากการคลอดธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด แต่ในทางกลับกัน ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย แล้วการผ่าคลอดมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง? ตามเรามากันเลยค่ะ
ศึกษาข้อดีและข้อเสีย ‘ผ่าคลอด’ ก่อนทำการตัดสินใจ
อย่างที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น การผ่าคลอดนั้นกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่ในยุคนี้เป็นอย่างมาก แต่ก่อนที่คุณแม่จะตัดสินใจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง เราลองมาดูข้อดี ข้อเสีย และความแตกต่างระหว่างการคลอดแบบธรรมชาติและการผ่าคลอดกันก่อนดีกว่าค่ะ
ข้อดีของการ ผ่าคลอด
- กำหนดเวลาได้ คุณแม่สายมูย่อมถูกใจกับสิ่งนี้ เพราะฤกษ์งามยามดีก็ถือเป็นสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของคุณแม่ได้เปลาะหนึ่ง ซึ่งตรงส่วนนี้คุณแม่ที่เลือกคลอดเองไม่สามารถทำได้นะคะ
- ใช้เวลาน้อย การผ่าคลอดนั้นใช้เวลาน้อยกว่าการคลอดธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากไม่จำเป็นต้องรอให้คุณแม่เจ็บครรภ์หรือรอให้ปากมดลูกเปิดอย่างเต็มที่ โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาเพียง 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
- ลดความเจ็บปวดขณะคลอด คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะคลอดเลย เนื่องจากแพทย์จะทำการบล็อกหลังหรือมีการให้ดมยาสลบก่อนทำการผ่าตัด ต่างจากการคลอดธรรมชาติที่แพทย์จะฉีดยาชาและยาแก้ปวดให้เป็นระยะ ๆ เท่านั้น
- มีเวลาเตรียมตัว เมื่อคุณแม่รู้กำหนดเวลาแน่นอน ทำให้มีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดทำคลอด ไม่เหมือนกับการคลอดเองที่พอคุณแม่รู้สึกเจ็บครรภ์ ทุกอย่างก็ดูเร่งรีบไปเสียหมด แม้ว่าสุดท้ายจะต้องใช้เวลาอยู่ห้องคลอดนานมากก็ตาม
ข้อเสียของการ ผ่าคลอด
- ฟื้นตัวช้า ด้วยวิธีการที่ซับซ้อนและแผลผ่าคลอดที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ร่างกายของคุณแม่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าการคลอดธรรมชาติที่มีแผลขนาดเล็กกว่ามาก
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด แม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งระหว่างหรือหลังการผ่าตัดได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เสียเลือดมาก น้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบ เป็นต้น แต่กรณีเหล่านี้ มีอัตราเกิดที่ต่ำมาก ๆ เลยค่ะ เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลเกินไป
- ไม่สามารถให้นมบุตรได้ทันที ก่อนผ่าตัดคุณแม่จะถูกบล็อกหลังที่ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกหรืออาจมีการให้ยาสลบ ทำให้ต้องใช้เวลาสักพักในการฟื้นตัว เป็นเหตุทำให้คุณแม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ในทันที
- บุตรอาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ การผ่าคลอด ทำให้ทารกไม่ได้รับโพรไบโอติก ผ่านทางช่องคลอด ทำให้ทารกมีความเสี่ยงที่จะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ โรคอ้วน เบาหวาน และอื่นๆ
5 วิธีเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด
ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับคุณแม่ใกล้เข้ามาแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรอพบกับเจ้าตัวเล็กก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าก่อนผ่าคลอดนั้น คุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง
1. งดน้ำ งดอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
การงดน้ำ งดอาหารก่อนผ่าตัดเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัดได้ เช่น ภาวะคลื่นไส้ ภาวะแทรกซ้อนของปอด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการผ่อนปรนให้คุณแม่สามารถดื่มน้ำได้ก่อนการผ่าตัด ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
2. อาบน้ำชำระร่างกาย
ก่อนเข้าห้องผ่าตัดแพทย์จะให้คุณแม่อาบน้ำชำระร่างกายให้เรียบร้อยเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ บนผิวหนังออกเสียก่อน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว แพทย์จะต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณผิวที่จะทำการผ่าคลอดให้ก่อนผ่าตัดอีกครั้งก็ตาม
3. ไม่จำเป็นต้องโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น
การโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้นอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อในระหว่างผ่าตัดทำคลอดได้ ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องโกนบริเวณนั้นออก หากจำเป็นที่จะต้องโกนขนจริง ๆ แพทย์หรือพยาบาลในห้องผ่าตัดจะเป็นคนดำเนินการให้กับคุณแม่เอง
4. ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับขั้นตอนการผ่าตัดและวิธีการปิดแผล
สำคัญที่สุดคือ การปรึกษากับแพทย์ถึงวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดกระบวนการผ่าตัดเพื่อที่คุณแม่จะเกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับแพทย์ ก่อนที่จะเซ็นเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัดทำคลอด
5. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเองหลัง ผ่าคลอด
หลังการผ่าตัดก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับลูกน้อยเท่านั้น แต่คุณแม่จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูร่างกายของตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าคลอด ตัวอย่างเช่น กิจกรรมใดที่ควรทำ อาหารชนิดใดกินได้หรือไม่ได้บ้าง เป็นต้น
รู้ไว้อุ่นใจกว่า 9 ขั้นตอนการผ่าคลอด
สำหรับการผ่าคลอดนั้นมีขั้นตอนหลัก ๆ อยู่ 9 ขั้นตอน สำหรับคุณพ่อต้องการเข้าไปเป็นกำลังให้กับคุณแม่หากได้รับการอนุญาตจากแพทย์ก็สามารถเข้าไปในห้องผ่าตัดพร้อมกับคุณแม่ได้ แต่อย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดกันด้วยนะคะ
ตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าเมื่อคุณแม่เข้าไปอยู่ในห้องผ่าตัดแล้ว จะต้องพบเจอกับขั้นตอนอะไรบ้าง ตามมาเลยค่ะ
1. ระงับความเจ็บปวด
เมื่อเข้าไปในห้องผ่าตัดแล้วนั้น แพทย์จะเตรียมระงับความเจ็บปวดให้กับคุณแม่ โดยการทำการบล็อกหลังเพื่อไม่ให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าตัด แต่ยังมีสติรับรู้อยู่ตลอดเวลา ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นที่จะต้องให้ยาสลบ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาที
2. กรีดเบื้องต้น
เมื่อส่วนล่างของคุณแม่ไร้ความรู้สึกกันแล้ว แพทย์จะทำการวางผ้าปลอดเชื้อคลุมไว้เพื่อเตรียมผ่าตัด ทำความสะอาดบริเวณที่จะต้องผ่าตัดอีกครั้ง ก่อนจะเริ่มทำการกรีดบริเวณท้องส่วนล่างที่เป็นตำแหน่งของมดลูก
โดยวิธีการกรีดจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสองแบบคือ แนวตั้งและแนวขวาง ซึ่งในปัจจุบัน แพทย์จะนิยมผ่าตัดตามแนวขวางมากกว่า เพราะจะเจ็บแผลน้อยกว่าการผ่าแบบแนวตั้ง ยกเว้นแต่การผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินหรือมีความซับซ้อน แพทย์จะเลือกผ่าแบบแนวตั้งแทน
3. ดำเนินการผ่าตัด
พอมาถึงขั้นตอนนี้แพทย์จะเริ่มทำการผ่าตัดหน้าท้องผ่านลงไปทีละชั้นเพื่อไปให้ถึงบริเวณตำแหน่งของมดลูก ซึ่งจะใช้เครื่องมือที่หลากหลายและใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องคอยควบคุมไม่ให้คุณแม่เสียเลือดมากจนเกินไป
4. ดูดน้ำคร่ำ
เมื่อแพทย์ผ่าตัดไปจนถึงมดลูกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การดูดน้ำคร่ำออกมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับมดลูก เตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป
5. คลอดศีรษะ
ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะทำการกรีดมดลูกเพื่อเตรียมคลอดส่วนศีรษะของทารกออกมาก่อนเป็นอันดับแรก แพทย์จะยังไม่ทำการดึงทารกออกมาทั้งตัว เพียงแค่พอให้แพทย์สามารถดูแลทารกเบื้องต้นได้ เมื่อศีรษะของเขาโผล่ออกมาแล้ว แพทย์จะทำการดูดของเหลวที่อยู่ในจมูกและปากของเขาออกมาเพื่อให้ปอดได้เริ่มทำงานและให้เขาสามารถหายใจได้เอง
6. ส่วนศีรษะและไหล่ของทารก
หลังจากที่เขาได้รับการดูแลจากแพทย์แล้ว ขั้นตอนนี้แพทย์จะเริ่มทำการดึงศีรษะรวมไปถึงช่วงไหล่ของทารกออกมากันแล้วค่ะ
7. ช่วงเวลาที่รอคอย
ถึงตอนนี้เจ้าตัวน้อยของเราก็ได้ออกมาสัมผัสกับโลกภายนอกกันแล้วค่ะ แพทย์จะทำการตัดสายสะดือ นำทารกไปทำความสะอาด ดูดของเหลวออกจากจมูกและปากของทารกอีกครั้ง รวมถึงการพาเขาไปชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และอื่น ๆ ก่อนจะนำทารกมาส่งให้คุณแม่ได้เห็นหน้าลูกน้อยกันสักครู่หนึ่ง
8. คลอดรก
เช่นเดียวกับการคลอดธรรมชาติ คุณแม่จำเป็นต้องคลอดรกออกมาก่อนที่แพทย์จะทำการเย็บปิดแผล แต่สำหรับการผ่าตัดคลอดนั้น แพทย์จะเป็นคนช่วยคุณแม่นำรกออกมาเอง
9. เย็บปิดแผล
หลังจากคลอดรกแล้วนั้น แพทย์จะเริ่มเย็บปิดแผลทีละชั้นจนกระทั่งถึงชั้นผิวชั้นสุดท้ายก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัดทำคลอดแล้วค่ะ หลังจากนั้นพยาบาลจะพาคุณแม่กลับไปยังห้องพักฟื้นเพื่อรอให้นมบุตร
เคล็ดลับดูแลตัวเองหลังการ ผ่าคลอด
การผ่าตัดทำคลอด ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้น หลังการผ่าตัดคุณแม่จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูกลับมาได้โดยเร็ว โดยขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลคุณแม่ควรทำตามแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้วนั้นก็ควรทราบถึงการดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งในบทความนี้เราก็ได้นำมาฝากให้กับคุณตั้งครรภ์มือใหม่กันแล้วค่ะ
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
แม้ว่าช่วงเวลาที่กว่าหนึ่งอาทิตย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้น คุณแม่จะสามารถพักผ่อนได้มาก แต่หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ความสนใจส่วนใหญ่คงพุ่งไปอยู่กับเจ้าตัวเล็ก ดังนั้น ถึงคุณแม่จะถูกลูกน้อยปลุกขึ้นมาบ่อยๆ เพราะเขาหิวนม แต่ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอให้ได้นะคะ
2. ดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม
แผลผ่าตัดนั้นใหญ่มากพอที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บขณะเดินหรือนั่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็จำเป็นต้องเดินบ้างเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น แต่ควรที่จะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ การเดินขึ้น-ลงบันได และยกของหนัก เนื่องจากอาจทำให้แผลฉีกขาดหรืออักเสบได้
3. ดูแลแผลผ่าตัดและบรรเทาความเจ็บปวด
ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลแผลผ่าตัดเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อจนกว่าแผลจะแห้งสนิท ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 6 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน คุณแม่ควรที่จะปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นด้วย โดยเบื้องต้นแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดไปให้ด้วยอยู่แล้ว
4. มีโภชนาการที่ดี
ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด โภชนาการที่ดีก็สำคัญที่สุดสำหรับการฟื้นฟูร่างกาย คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย เช่น ขนมปัง ซีเรียล เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว และอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเล อาหารรสจัด และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
ขณะเดียวกัน คุณแม่ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่ด้วย เพราะการผ่าตัดคลอดนั้นทำให้ทารกได้รับภูมิคุ้มกันที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น น้ำนมแม่จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพไปช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ทั้งหมดที่เรากล่าวมานี้ ก็เป็นข้อมูลทั้งหมดที่เราได้รวบรวมมาให้คุณแม่ได้นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าคลอด สุดท้ายนี้ไม่ว่าคุณแม่จะตัดสินใจเลือกคลอดเจ้าตัวเล็กด้วยวิธีการไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้เห็นเขาออกมาสัมผัสกับโลกกว้างใบนี้ได้อย่างปลอดภัย Mama’s Choice ขอเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้กับคุณแม่ทุกท่านนะคะ
อ้างอิง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทุกเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้เกี่ยวกับ ‘การฝากครรภ์’
ไขข้อข้องใจคุณแม่มือใหม่ คลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร เจ็บมากไหม
ไขทุกข้อข้องใจที่ ‘แม่ตั้งครรภ์’ และ ‘แม่ให้นม’ อยากรู้เกี่ยวกับโควิด-19
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice