คุณแม่ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนย่อมโดนหักเงินเข้า ‘ประกันสังคม’ หรือ ‘กองทุนเงินทดแทนสำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ’ กันอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็อย่าลืมใช้สิทธิในการ เบิกค่าคลอดบุตร รวมถึงเบิกเงินส่วนอื่นๆ ที่คนท้องและคนเป็นพ่อแม่พึงได้รับกันนะคะ โดยในบทความนี้ Mama’s Choice สรุปรายละเอียดทั้งหมดมาให้แล้วค่ะ รับรองว่าเบิกง่าย ไม่ยาก!
เบิกค่าคลอดบุตร ได้กี่บาท?
เหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (ถ้าตั้งครรภ์ลูกแฝด ก็นับเป็น 1 ครั้งนะคะ) โดยคุณแม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเตรียมเอกสารไปยื่นสำนักงานประกันสังคมเพื่อเบิกคืนทีหลังค่ะ
คุณแม่ต้องเป็นผู้ประกันตน ม. อะไร ถึง เบิกค่าคลอดบุตร ได้?
- ม.33 หรือ มาตรา 33 คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ที่บริษัทหัก 5% ส่งประกันสังคมให้ทุกเดือนโดยอัตโนมัติ
- ม.39 หรือ มาตรา 39 คือ คนที่ลาออกจากบริษัทเอกชนยังไม่เกิน 6 เดือน และต้องเคยส่งประกันสังคมมาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน
- ทั้งนี้ ไม่ว่าจะ ม. 33 หรือ ม.39 ก็ต้องเคยส่งประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ โดย 5 เดือนที่ส่งนั้นไม่จำเป็นต้องติดต่อกันก็ได้ค่ะ
คุณแม่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ม. อะไรเลย ให้คุณพ่อ เบิกค่าคลอดบุตร แทนได้ไหม?
ได้ค่ะ
คุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ต้องใช้สิทธิของใคร?
ของใครก็ได้ เลือกแค่คนใดคนหนึ่งนะคะ
จำเป็นต้องคลอดที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมไหม?
ไม่จำเป็นค่ะ คุณแม่สามารถคลอดที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่สะดวก จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้ค่ะ
เบิกค่าคลอดบุตร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
- สปส. 2-01 แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน โดยคุณพ่อหรือคุณแม่ผู้ประกันตนจะต้องกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
- บัตรประชาชนตัวจริง
- เตรียมสำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด
- ในกรณีคลอดบุตรแฝด ให้คุณแม่แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดไปด้วย
- หากใช้สิทธิคุณพ่อจะต้องแนบสำเนาทะเบียนสมรสไปด้วย
- ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสไปด้วย
- สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ โดยมีธนาคารต่างๆ ที่เข้าร่วม ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต (เป็นการรวมตัวกันของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต)
เตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ?
- ไปยื่นเอกสารเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์เบิกเงินค่าคลอดบุตรได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ
- สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่คุณแม่สะดวก
- ยกเว้น สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข
- ยื่นเอกสารได้ทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8:30 – 16:30 น. (วัน-เวลา ราชการ)
- ไปยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เองหรือให้ผู้อื่นไปยื่นเรื่องแทนก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าเอกสารที่ฝากผู้อื่นไปยื่นนั้นมีความถูกต้องครบถ้วนตามที่สำนักงานประกันสังคมร้องขอ และอย่าลืมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารทุกฉบับให้ชัดเจนด้วยนะคะ
- นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถยื่นเอกสารขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านทางไปรษณีย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยจะต้องจ่าหน้าซองถึงผู้รับว่า ฝ่ายสิทธิประโยชน์ และส่งเอกสารไปตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน
สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาสั่งจ่ายเงินอย่างไร?
สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาสั่งจ่ายเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่
- เงินสดหรือเช็ค (ผู้ประกันตนจะมารับเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นมารับแทนก็ได้)
- ส่งธนาณัติให้กับผู้ประกันตน
- โอนผ่านเข้าบัญชีของผู้ประกันตนตามที่แจ้งไว้
คุณพ่อคุณแม่จะได้รับเงินภายใน 5 – 7 วันทำการ หลังจากที่ได้รับการอนุมัติการสั่งจ่าย ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ไม่เห็นด้วยกับการสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
คนท้อง เบิกประกันสังคม อะไรได้อีกบ้าง?
ค่าตรวจและฝากครรภ์
คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 สามารถเบิกเงินค่าตรวจและฝากครรภ์ได้สูงสุด 1,500 บาท (จากเดิม 1,000 บาท) โดยจะแบ่งจ่ายเป็นทั้งหมด 5 ครั้ง มีรายละเอียดดังนี้
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาท
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท
- คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาท
เงินสงเคราะห์การหยุดงานจากการลาคลอดบุตร
- คุณแม่ (ผู้ประกันตนฝ่ายหญิง) สามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานจากการลาคลอดบุตรได้ 50% ของเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- โดยเบิกได้เป็นระยะเวลา 90 วัน และเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง แต่หากคุณแม่มีบุตรคนที่ 3 จะไม่สามารถเบิกเงินตรงส่วนนี้ได้แล้ว
- ถ้าคุณแม่กลับไปทำงานก่อนครบกำหนดระยะเวลา 90 วัน สำนักงานประกันสังคมก็จะยังคงจ่ายให้เต็ม 90 วัน
- เช่น ถ้าคุณแม่มีเงินเดือน 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 7,500 บาท รวมแล้วเป็น 22,500 บาท
เงินทดแทนในกรณีแท้งบุตร
แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคุณแม่ท่านไหนก็ตาม แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นจริงๆ เราอยากให้ข้อมูลในส่วนตรงนี้เป็นประโยชน์กับคุณแม่ โดยคุณแม่สามารถขอรับเงินทดแทนได้เท่ากับการเบิกเงินค่าคลอดบุตร และจะได้รับเงินชดเชยการหยุดงานด้วยเช่นกัน มีเงื่อนไขดังนี้
- เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 เท่านั้น
- ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่มีการแท้งบุตร คุณพ่อคุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน
- คุณแม่ต้องมีอายุครรภ์ขณะแท้งบุตรไม่ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือน
เงินสงเคราะห์บุตร
คุณพ่อคุณแม่จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มเติมอีกเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน (จากเดิม 600 บาท) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33, ม.39 และ ม.40
- ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนรับสิทธิ คุณพ่อหรือคุณแม่จะต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน
- ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่รวมบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุคคลอื่น
- สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้กับบุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ คราวละไม่เกิน 3 คน
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลการเบิกเงินที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์จากกองทุนประกันสังคมที่ Mama’s Choice ได้นำมาฝากให้กับคุณแม่เก็บไว้เป็นข้อมูลและเตรียมความพร้อมสำหรับการมาถึงลูกน้อย แม้ว่าเงินตรงส่วนนี้จะไม่ใช่เงินถุงเงินถัง แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของคุณพ่อคุณแม่ไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาแข็งแรงสมวัยไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และเงินก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการเลี้ยงดู ดังนั้นอย่าปล่อยให้เสียสิทธิที่เราควรจะได้รับไปนะคะ
ท้ายที่สุดนี้ สำหรับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกค่าตรวจและฝากครรภ์ กรณีแท้งบุตร และเงินสงเคราะห์บุตรนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือ โทร. 1506 (บริการตลอด 24 ชม.)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
15 อาการคนท้อง ที่บอกได้เลยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ
อาการ แพ้ท้อง น้ำลายไหลมากผิดปกติ ป้องกันได้ด้วย 4 วิธีนี้
ไขข้อข้องใจคุณแม่มือใหม่ คลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร เจ็บมากไหม
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice