การมีลูกตัวน้อยมาเติมเต็มชีวิตคู่ให้กลายเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบคือความใฝ่ฝันของคุณพ่อคุณแม่หลายคน แต่การวางแผนการมีลูกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องไปตรวจสุขภาพแล้ว ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับการมีลูก เพราะเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่ากำลังจะเกิดหลังจากนี้ต่างหาก เพื่อช่วยให้คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่สามารถรับมือกับการตั้งครรภ์ท้องแรกได้อย่างถูกต้อง วันนี้เราได้รวบรวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ อาการคนท้อง และรายละเอียดการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกไปจนถึงวันคลอดมาฝาก
รู้หรือไม่ อายุครรภ์เริ่มนับหลังจากวันที่คุณแม่หมดประจำเดือน
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการนับอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่คุณแม่ตรวจพบว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง แต่ความจริงแล้วคุณหมอจะเริ่มนับอายุครรภ์หลังจากวันสุดท้ายที่คุณแม่มีประจำเดือน เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงที่ไข่ตกและเกิดการปฏิสนธิมากที่สุด
หากมีอาการเหล่านี้ เตรียมตัวให้ดี ข่าวดีกำลังจะมา!
อาการคนท้องแรกๆ สัปดาห์ที่ 1-3
โดยทั่วไปแล้วในช่วง 3 สัปดาห์แรกคุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เนื่องจากฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรก หรือ Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ยังอยู่ในระดับต่ำ อาการที่พอจะสังเกตเห็นได้ในช่วงนี้ก็คือ ท้องอืด หรือ ท้องเฟ้อ อาจพบเลือดสีน้ำตาลหรือสีแดงจางไหลออกมาเล็กน้อยนาน 1 – 2 วัน และมีอาการตกขาวขุ่นไม่มีกลิ่น รู้สึกอ่อนเพลีย เริ่มมีอารมณ์แปรปรวน และรู้สึกหงุดหงิดง่าย บางคนอาจมีประสาทรับกลิ่นที่ละเอียดอ่อนกว่าปกติ และเริ่มรู้สึกถึงรสชาติแปลก ๆ เวลาทานอาหาร แต่หากใครมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดนานกว่าปกติ หรือ ตกขาวมีสี มีกลิ่น และรู้สึกคัน แนะนำให้ติดต่อเพื่อพบแพทย์ทันที
แม้อาการในช่วงนี้จะมีให้เห็นน้อยจนไม่อาจสรุปได้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ แต่หากคุณแม่มีความตั้งใจที่จะมีน้องแนะนำว่าให้เริ่มดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เริ่มจากการลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่เพราะในควันบุหรี่เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายและอาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้คุณแม่ควรดูแลเรื่องอาหารการกินให้ได้สารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งและสารสังเคราะห์ เลือกกินของสดปรุงสุก และเริ่มทานอาหารที่มีวิตามิน B9 หรือที่เรียกอีกชื่อว่ากรดโฟลิกเพราะเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องใช้ในการสร้างตัวอ่อนซึ่งมีผลโดยตรงต่อระบบประสาทและไขสันหลังของตัวอ่อนในครรภ์
อาการคนท้อง สัปดาห์ที่ 4
ในสัปดาห์ที่ 4 คุณแม่จะเริ่มมั่นใจได้แล้วว่าตัวเองตั้งครรภ์เนื่องจากประจำเดือนน่าจะมาช้ากว่าปกติไปแล้ว 1 สัปดาห์ แต่ก็อย่าเพิ่งรีบดีใจไปก่อนเพราะยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ เช่น ความเครียด หรือ การพักผ่อนน้อย ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจคุณพ่อและคุณแม่ควรซื้อที่ตรวจครรภ์มาเช็คดูก่อน เนื่องจากปัจจุบันที่ตรวจครรภ์หลายยี่ห้อมีความแม่นยำมากถึง 90% แนะนำว่าให้ซื้อที่ตรวจครรภ์มา 2 อันโดยเลือกยี่ห้อให้ต่างกัน หากผลออกมาว่าตั้งครรภ์เหมือนกันทั้ง 2 อัน ก็เตรียมตัวฉลองได้เลย
‘การฝากครรภ์’ เรื่องแรกที่ต้องทำเมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งท้อง
หลังจากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่อยากทำอาจเป็นการจัดงานฉลองหรือออกไปซื้อของเตรียมไว้ให้ลูกน้อย แต่ช้าก่อนอย่าเพิ่งรีบทำอะไรเพราะสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือการเดินทางไปพบคุณหมอและตรวจการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากนั้นให้ทำเรื่องฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอตรวจสุขภาพ ตรวจอายุครรภ์และดูแลได้อย่างทันท่วงทีหากพบภาวะผิดปกติในครรภ์
การเลือกโรงพยาบาลที่จะไปฝากครรภ์แนะนำให้เลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานมากที่สุด เพื่อให้คุณแม่เดินทางได้สะดวกและสามารถไปถึงมือหมอได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การคลอดก่อนกำหนด ในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวที่ต้องพบแพทย์เป็นประจำแนะนำให้ขอข้อมูลการรักษาและการใช้ยามาด้วย หรือจะเลือกฝากท้องที่โรงพยาบาลนั้นเลยก็ได้
เอกสารที่ต้องเตรียมเอาไว้ก่อนไปฝากครรภ์ ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
- ประวัติสุขภาพ เช่น การเจ็บป่วย การแพ้ยา การผ่าตัด การรับวัคซีน โรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และอาการแพ้ท้องที่เกิดกับคุณแม่ เป็นต้น
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
นอกจากเอกสารสำคัญแล้วคุณแม่ควรเตรียมคำถามที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเองและการดูแลครรภ์ไปด้วย แนะนำว่าให้ลิสต์คำถามสำคัญ ๆ ใส่กระดาษเอาไว้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างครบถ้วน คำถามสำคัญที่ควรถามคุณหมอเอาไว้ก่อน ได้แก่ กำหนดวันคลอด อาหารที่ควรกิน ไม่ควรกิน หรือวิตามินที่ควรกินเพิ่มเติม ยาชนิดไหนที่เป็นอันตรายต่อลูก สิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ และคุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกายแบบไหน เพศสัมพันธ์แบบไหนที่ปลอดภัยกับเด็กในครรภ์ ที่สำคัญอย่าลืมแจ้งสิทธิ์หรือสวัสดิการที่คุณแม่ควรได้รับ เช่น การลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการตรวจครรภ์ หรือการขอใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดพักงาน
อาการคนท้อง สัปดาห์ที่ 5 – 9
กว่าร้อยละ 70 – 80 ของคุณแม่จะรู้สึกแพ้ท้องหนักในช่วง 9 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกไวต่อกลิ่นมากเป็นพิเศษ มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ ไม่อยากทานอาหาร ไปจนถึงอาเจียนในบางครั้ง อาการเหล่านี้เกิดจาก ฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin (HCG) เพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายและจิตใจ
เป็นภาพที่คุ้นตาเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ถามหาอาหารรสเปรี้ยวอย่างของดอง แต่รู้หรือไม่ว่าของหมักดอง อาหารรสจัด และเครื่องเทศนั้นจะทำให้คุณแม่รู้สึกจุกเสียดจนไม่สบายตัว ดังนั้นหากคุณแม่รู้สึกเปรี้ยวปากแนะนำให้เลือกทานผลไม้สดรสเปรี้ยว หรือ อาหารประเภทยำรสอ่อนแทน ในกรณีที่คุณแม่ไม่อยากอาหารไม่จำเป็นต้องฝืนทานให้มากขึ้นเพราะนั่นจะยิ่งทำให้รู้สึกทรมานและอยากอาเจียน ลองปรับอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง แล้วเพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้นจาก 3 มื้อต่อวัน เป็น 5 – 6 มื้อต่อวัน หรือจะทานทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมงเลยก็ได้ ลองพกขนมปังกรอบหรือแคร็กเกอร์กับนมเอาไว้ในห้องนอน ให้คุณแม่ทานก่อนนอนและตอนตื่นเช้าก่อนไปทำกิจกรรมอื่น เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าท้องว่าง วิธีนี้จะช่วยคลายอาการวิงเวียนและผะอืดผะอมระหว่างวันได้ การดื่มน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญในช่วงที่มีอาการแพ้ท้อง ดังนั้นคุณแม่ควรดื่มน้ำให้มากๆ แต่พยายามอย่าดื่มน้ำพร้อมทานอาหาร แนะนำให้ดื่มก่อนหรือหลังทานอาหาร 30 นาที และจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างวันจะดีกว่า
สำหรับคุณพ่อช่วงแพ้ท้องคงเป็นช่วงที่ยากลำบากไม่แพ้กัน เพราะคุณแม่มีประสาทรับกลิ่นที่ไวกว่าปกติ ส่งผลให้คุณพ่อต้องเก็บน้ำหอมกลิ่นโปรดหรือกาแฟที่ชอบดื่มทุกเช้าเข้าตู้ นอกจากนี้ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย น้อยใจเก่ง จนคุณพ่อเอาใจไม่ถูก ในจุดนี้ต้องอาศัยความเข้าใจและการควบคุมอารมณ์ของคุณพ่อมาก ๆ เพราะถึงอย่างไรกำลังใจและความรักจากคุณพ่อก็ยังเป็นพลังสำคัญที่คุณแม่ท้องอ่อนขาดไม่ได้ในช่วงนี้ ลองจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดโปร่ง เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท พาคุณแม่ไปเดินเล่นในสวนบ้าง หรือหากิจกรรมเบาๆ ชวนกันทำก็จะช่วยให้คุณแม่ลืมความทรมานจากอาการแพ้ท้องและอารมณ์ดีขึ้น
อาการคนท้อง สัปดาห์ที่ 10-12
ในช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นเพราะอาการแพ้ท้องเบาลง อาจจะยังมีอาการวิงเวียนและคลื่นไส้หลงเหลืออยู่เนื่องจากร่างกายขาดน้ำตาล แนะนำให้ซื้อของหวานหรือไอศกรีมติดตู้เย็นเอาไว้ ของหวานจะช่วยคลายอาการแพ้ท้องให้คุณแม่ได้ และเมื่อก้าวเข้าสัปดาห์ที่ 11 คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง อาการแพ้ท้องหายไป อารมณ์มั่นคงขึ้น รู้สึกมีพลังมากขึ้น อ่อนเพลียน้อยลง กลับมาทานอาหารได้ตามปกติ เริ่มวางแผนและกลับมาจัดการภาระหน้าที่หรืองานที่คั่งค้างด้วยตัวเองได้ เป็นโอกาสที่ดีที่คุณพ่อจะชวนคุณแม่ไปพบทันตแพทย์ เพราะในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ควรไปหาหมอฟันอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อตรวจและดูแลสุขภาพช่องปากเพราะการตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่มีโอกาสฟันผุได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ควรแปลงฟันให้บ่อยขึ้นและใส่ใจความสะอาดในช่องปากมากขึ้นด้วย
ข่าวดีคือช่วงนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้น ผิวพรรณที่เคยทรุดโทรมหรือเป็นสิวช่วงเริ่มท้องแรก ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป ผมดกดำเงางามและร่วงน้อยลง เล็บยาวเร็วกว่าปกติ และหลังจากนี้ไปน้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มรู้สึกได้ถึงรอบเอวที่ขยายใหญ่ขึ้นจนล้นกางเกง ช่วงนี้แนะนำให้เปลี่ยนเสื้อผ้ามาใส่เสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกสบายตัวแทนเสื้อผ้าที่ใส่ปกติ
เมื่อก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 คุณแม่ก็จะหลุดพ้นจากอาการปวดปัสสาวะบ่อย เพราะมดลูกโตจนพ้นระยะกดทับกระเพาะปัสสาวะแล้ว ผิวหนังบริเวณหัวนมอาจคล้ำขึ้น หน้าอกใหญ่ขึ้น และรู้สึกตึง ที่หน้าท้องปรากฏเส้นสีจากสะดือลงไปจนถึงส่วนบนของหัวหน่าวซึ่งจะจางหายไปหลังจากคลอด ในช่วงนี้เรียกว่าเป็นช่วงระยะปลอดภัยเพราะพ้นช่วงเสี่ยงแท้งลูกแล้ว เป็นช่วงที่เหมาะมาก ๆ ที่จะเริ่มประกาศข่าวดีให้เพื่อน ๆ รู้ ในด้านอารมณ์คุณแม่อาจยังอ่อนไหวง่ายจนน้ำตาคลอเมื่อเห็นรถเข็นเด็กหรือเด็กตัวเล็ก ๆ แนะนำให้พยายามประคองอารมณ์ให้สดใสเข้าไว้เพราะเมื่อคุณแม่อารมณ์ดีลูกในครรภ์ก็จะอารมณ์ดีตามไปด้วย
ในเรื่องอาหารควรระวังการกินให้มากขึ้น เลี่ยงอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ชีสนุ่ม และตับบด เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือลิสเทอเรียซึ่งเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ ควรทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เสริมแคลเซียมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน เช่น นม และอาหารที่มีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น ข้าวโอ๊ต รำข้าว ถั่ว เนื้อสัตว์ ปลาทูน่า มันฝรั่ง ไข่ ส้ม บีทรูท และผักใบเขียว ที่สำคัญในหนึ่งวันควรทานผลไม้ให้ได้ 2 ส่วน และผัก 5 ส่วน
อาการคนท้อง สัปดาห์ที่ 13-24
หลังจากผ่านพ้น 3 เดือนแรกมาอย่างทุลักทุเลในที่สุดคุณพ่อคุณแม่ก็หลุดพ้นช่วงที่โหดที่สุดของการแพ้ท้องมาแล้ว ในช่วงนี้อวัยวะและร่างกายของลูกจะถูกสร้างจนเป็นรูปเป็นร่างและหลังจะนี้อวัยวะส่วนต่าง ๆ จะทำหน้าที่ของตัวเองและพัฒนาจนแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดของลูกน้อยในท้องจะโตขึ้น 3 – 4 เท่า ทำให้มดลูกขยับตัวสูงขึ้นและท้องใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่หากคุณแม่คนไหนยังรู้สึกว่าท้องไม่โตขึ้นอย่าเพิ่งกังวลไป เพราะลักษณะครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนในช่วงนี้จะค่อนข้างแตกต่างกันและยังตัดสินไม่ได้ว่าลูกในท้องจะแข็งแรงหรือไม่ อีกอาการที่พบได้ในช่วงนี้คืออาการคัดจมูก เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความชื้นต่ำ เช่น ห้องแอร์ หากจำเป็นต้องเปิดแอร์แนะนำให้หาถ้วยใส่น้ำมาตั้งเอาไว้ในห้องก็จะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศให้คุณแม่รู้สึกสบายขึ้น
เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนที่ 4 คุณแม่อาจพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการหลงลืมมากขึ้นหรือความจำเสื่อมชั่วคราว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ใช่อาการที่ต้องกังวล สิ่งที่จะช่วยคุณแม่ได้ในช่วงนี้คือสมุดบันทึกคู่ใจ นอกจากจะใช้จดบันทึกกันลืมแล้ว ยังใช้จดเรื่องสำคัญ ๆ และความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เพื่อนำไปพูดคุยกับคุณหมอในวันนัดได้อีกด้วย ยิ่งจดละเอียดเท่าไหร่คุณหมอก็จะยิ่งให้คำแนะนำที่ช่วยเหลือคุณแม่ได้มากเท่านั้น
แม้ว่าคุณแม่จะท้องโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะต้องทานเยอะเป็นสองเท่า แต่ให้พยายามบริหารการทานในแต่ละมื้อให้มีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียมอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคือต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพของอาหาร ทานแต่อาหารปรุงสุกสดใหม่ ใส่ใจเรื่องความสะอาดของพาชนะและวัตถุดิบ ถ้าคุณแม่สุขภาพดีเจ้าตัวน้อยในครรภ์ก็จะสุขภาพดีไปด้วย
อาการคนท้อง สัปดาห์ที่ 25-36
เรียกได้ว่าถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์กันแล้ว ในช่วงนี้อวัยวะต่าง ๆ ของลูกถูกสร้างจนเสร็จแทบจะสมบูรณ์และพร้อมทำงานด้วยตัวเอง คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงพื้นที่ในมดลูกที่แคบลงจนรู้สึกได้ชัดเจนเวลาลูกขยับตัวในท้อง นอกจากนี้คุณแม่จะเริ่มมีอาการบวม ลุกนั่งลำบาก เหนื่อยง่าย และหายใจลำบาก คุณแม่อาจรู้สึกว่าขยับตัวหรือเคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย ลุก นั่ง และเดินให้ช้า ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว อีกเรื่องที่ต้องระวังที่สุดในช่วงนี้ก็คือภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีเลือดออก หรือปัญหาภาวะน้ำคร่ำ ดังนั้นช่วงนี้จึงจำเป็นต้องพบหมอเพื่อติดตามอาการให้บ่อยขึ้น
สองสัปดาห์ก่อนถึงกำหนดคลอด ให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมจัดกระเป๋าให้พร้อมเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ให้ลืมของสำคัญในวันที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่สามารถโทรเช็คกับทางโรงพยาบาลได้เลยว่าทางโรงพยาบาลมีอุปกรณ์อะไรให้บ้างและเราต้องเตรียมอะไรไปเพิ่ม อีกเรื่องที่สำคัญคือการจดเบอร์สำคัญเอาไว้ เช่น เบอร์เพื่อนหรือญาติที่เราต้องการความช่วยเหลือจากเขาในวันคลอด และเบอร์โรงพยาบาลเพื่อโทรแจ้งกรณีฉุกเฉิน
สำหรับของใช้ส่วนตัวของคุณแม่ให้เตรียมไปสำหรับการค้างที่โรงพยาบาลประมาณ 3 – 5 วัน แล้วแต่แพ็คเกจที่ซึ้อไว้ ระวังอย่าเตรียมของเยอะจนเกินไป เพราะสัมภาระอาจกลายเป็นอุปสรรคในวันเดินทาง ของสำคัญที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ สมุดประจำตัวทารก เสื้อผ้าสวมใส่สบายสำหรับใส่วันกลับ ผ้าคลุมสำหรับให้นมบุตรเผื่อกรณีที่มีเพื่อนหรือญาติมาเยี่ยมหลังคลอด ถุงเท้าแบบหนาป้องกันอาการเย็นที่ปลายเท้า หากคุณแม่มีปัญหาทางสายตาแนะนำให้พกแว่นตามาแทนการใส่คอนแท็คเลนส์เพื่อลดโอกาสติดเชื้อผ่านดวงตา ของอีกชิ้นที่ต้องหาซื้อเอาไว้ล่วงหน้าก็คือแผ่นซับน้ำนมและเสื้อชั้นในสำหรับให้นมบุตร สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือสเปรย์สระผมแบบแห้ง เพราะหลังคลอดคุณแม่บางคนอาจได้รับคำแนะนำให้งดการสระผมไปอีกหลายวัน
เรียกได้ว่าเส้นทางของคุณแม่ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดนั้นไม่ง่ายเลย แต่ทุกอุปสรรคจะผ่านพ้นไปได้เมื่อครอบครัวจับมือฝ่าฟันทุกอย่างไปด้วยความเข้าใจ พร้อมอ้าแขนต้อนรับสมาชิกใหม่ด้วยความรัก อย่าลืมว่าการศึกษาหาข้อมูล การวางแผน และการเตรียมตัวให้พร้อมเป็นเรื่องสำคัญ แม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลมากมายให้อ่านและติดตาม แต่ระวังอย่าหาอ่านจนตื่นตูม ถ้าพบอาการผิดปกติที่น่ากังวลให้ปรึกษาและฟังคำแนะนำจากแพทย์เป็นหลักแล้วลูกน้อยจะสามารถลืมตาดูโลกได้อย่างแข็งแรง
อ้างอิง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
15 อาการคนท้อง ที่บอกได้เลยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ
สารเคมีอันตรายที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เลี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย
ไขทุกข้อข้องใจที่ ‘แม่ตั้งครรภ์’ และ ‘แม่ให้นม’ อยากรู้เกี่ยวกับโควิด-19
เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของ Mama’s Choice Thailand ได้ที่ Shopee Official Store
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice