คุณแม่ที่กำลังมีอาการแพ้ท้อง แพ้ท้องระยะแรกบางคนอาจกำลังรู้สึกอึดอัดท้อง แน่นหน้าอก ได้กลิ่นอาหารแล้วอาเจียน บางคนก็แพ้หนักมาก แต่บางคนไม่มีอาการอะไรเลย หรือแพ้ท้องลูกคนแรกอาการไม่เหมือนแพ้ท้องลูกคนที่สองก็ได้ จะเห็นว่า อาการแพ้ท้อง นั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
นอกจากสังเกตอาการแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คุณแม่จำเป็นต้องรู้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับดูแลตัวเองกันด้วย เช่น อาการแพ้ท้องมีลักษณะอย่างไร แพ้ท้องแทนกันได้จริงไหม อาหารที่ควรกินช่วงแพ้ท้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอาการต่างๆ นั่นเอง
อาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลย ตามมาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่ควรรู้อะไรเกี่ยวกับสิงนี้บ้าง
อาการแพ้ท้อง เกิดจากอะไร
การแพ้ท้อง หรือที่ต่างประเทศนิยมเรียกว่า Morning Sickness แม้ชื่อจะบอกว่า Morning แต่นี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบหาสาเหตุที่แน่ชัดของการแพ้ท้อง แต่ถ้ารู้สึกไม่สบายตัว อยากคลื่นไส้อาเจียนล่ะก็ ให้สันนิษฐานว่ามาจาก 5 สาเหตุ ดังนี้
1. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
รกผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกได้ดีขึ้นและไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว และอยากอาเจียนตลอดเวลา โดยเจ้า HCG นี้จะเพิ่มสูงขึ้นช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่ไม่ต้องกังวลว่า HCG จะอยู่ตลอดไปนะ เพราะหลังจากผ่านไปประมาณ 3 เดือน ระดับฮอร์โมนนี้จะลดลงและอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้น
2. เกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติ
อย่างที่บอกว่าเวลาท้องร่างกายจะผลิตฮอร์โมน HCG ขึ้นมา ถ้าผลิตออกมามากเกินไปจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติได้ เช่น รกผิดปกติ ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์แฝด ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ทำให้อาเจียนบ่อยขึ้นและอาการจะอยู่นานกว่าปกติ
3.ความเครียด
ช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ต้องจัดการหลายอย่างในชีวิต ทั้งการเงิน เรื่องงาน เรื่องสุขภาพ เรื่องงานบ้าน อาจทำให้เกิดความเครียดและกังวลจนรู้สึกอยากอาเจียนออกมา
อาการแพ้ท้อง มีลักษณะแบบไหนและมีกี่ระดับ
การแพ้ท้องไม่ใช่แค่อยากอาเจียนอย่างเดียว แต่เป็นได้หลายอาการมาก ๆ แถมยังมีหลายระดับอีกด้วย อาการของคนแพ้ท้องมีลักษณะดังนี้
1. คลื่นไส้และเวียนหัว
อาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์โดยเฉพาะช่วงเช้า หรือคุณแม่บางท่านอาจเกิดทั้งวัน โดยการอาเจียนบ่อยไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อลูกในท้อง เพราะถ้ายังกินอาหารได้เหมือนเดิมลูกน้อยก็ยังได้รับสารอาหารครบถ้วนอยู่
2. อ่อนเพลีย
จะเป็นอาการที่เกิดตามมาจากอาเจียน เพราะถ้าคุณแม่อาเจียนบ่อยร่างกายจะสูญเสียน้ำ ทำให้รู้สึกหน้ามืดและไม่ค่อยมีแรง
3. ไวต่อกลิ่น
ฮอร์โมน HCG ทำให้ฮอร์โมนต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้จมูกคุณแม่ไวต่อกลิ่นเป็นพิเศษคือ ได้กลิ่นไว เหม็นง่าย โดยเฉพาะกลิ่นอาหาร กลิ่นน้ำหอม กลิ่นตัว ว่ากันว่าจากกลิ่นสามีที่เคยหอมก็กลายเป็นเหม็นได้เหมือนกัน
4. การรับรสไม่เหมือนเดิม
คุณแม่บางท่านเวลาแพ้ท้องอาจอยากกินเปรี้ยว หรือไม่อยากกินอะไรเลยก็มี เพราะรู้สึกขมในปากอยู่ตลอดเวลา
5. อารมณ์แปรปรวน
เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้อารมณ์ขึ้นลงง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เช่น อยู่ดี ๆ ก็อยากร้องไห้ อีกแปปเดียวก็อารมณ์ดี แต่อีกสักพักก็กลับมารู้สึกเบื่อ
แต่ใช่ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นกันทุกคนนะ เพราะการแพ้ท้องแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ
1. อาการแพ้ท้อง น้อยหรือไม่แพ้เลย
เวียนหัว หน้ามืด มีอาการคลื่นไส้อยากอาเจียนแต่ไม่บ่อยและสามารถทานอาหารได้อยู่ ที่ไม่แพ้ท้องเลยเป็นเพราะร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนไม่เท่ากัน นับว่าคุณแม่กลุ่มนี้โชคดีมาก ๆ เพราะจะได้ดูแลร่างกายตัวเองได้เต็มที่ ทานของมีประโยชน์ได้เยอะ และไม่ต้องทรมานกับอาการแบบนี้อีกต่อไป
2. อาการแพ้ท้อง ปานกลาง
อาเจียนบ่อยครั้ง จมูกไวต่อกลิ่น ทำให้ความอยากอาหารลดลงและทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ ทำให้บางครั้งปัสสาวะเป็นสีเหลืองเนื่องจากร่างกายขาดน้ำ อาการนี้แก้ได้ด้วยการจิบน้ำระหว่างวัน หรือถ้ายังไม่หายแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับน้ำเกลือ อาการปัสสาวะเหลืองจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
3. อาการแพ้ท้อง หนัก
รู้สึกอยากอาเจียนตลอดเวลาจนไม่สามารถทานอาหารได้ เวียนหัว หน้ามืดและร่างกายทรุดโทรม กรณีนี้คุณแม่ต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา โดยคุณหมอจะจ่ายยาตามอาการและแนะนำการปรับพฤติกรรมต่างๆ
อาการ ที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อ แพ้ท้อง
ขอบอกว่าไม่ใช่ไม่มีอาการแพ้ท้องแล้วจะปลอดภัยเสมอไปนะ คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตร่างกายร่วมด้วยเสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่ออัลตร้าซาวด์และวินิจฉัยทันที มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรที่ต้องเฝ้าระวังยามแพ้ท้องกันบ้าง
1. มีเลือดออกทางช่องคลอด
การมีเลือดออกจากช่องคลอดในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องปกติ โดยส่วนใหญ่มักพบเลือดออก 2 ช่วงด้วยกันคือ ช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์และครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ถ้าพบว่ามีเลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าอันตรายหรือเสี่ยงแท้งมากน้อยแค่ไหน
2. ปวดหน่วงท้องน้อยอย่างรุนแรง
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาเดือนเศษจะมีอาการปวดหน่วงท้องไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าเกิน 10 ครั้งขึ้นไปหรือปวดติดกันต่อเนื่องหลายชั่วโมง อาจเป็นสาเหตุของการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
3. บวมบริเวณขาหรือข้อเท้า
ช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด ถ้ากดบริเวณขาหรือเท้าแล้วบุ๋มลึกกว่าปกติอาจแสดงถึงภาวะแทรกซ้อนผิดปกติ เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือโรคไตได้
อาการแพ้ท้อง แทนกันมีจริงไหม ?
คุณแม่น่าจะเคยได้ยินมาบ้างว่า คุณพ่อแพ้ท้องแทนภรรยามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือมโนกันแน่ ตามมาไขข้อข้องใจไปด้วยกันเลย
อาการแพ้ท้องแทนกันเป็นอาการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า โคเวด ซินโดรม (Couvade Syndrome) สาเหตุเกิดจากคุณพ่อวิตกกังวล ตื่นเต้น ห่วงใยภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีอยู่ในคุณพ่อเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดอาการแพ้ท้องเหมือนภรรยานั่นเอง
พ่อแต่ละคนจะแพ้ท้องไม่เท่ากัน บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น เวียนหัว อยากอาเจียน อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวนง่าย แต่ถ้าแพ้หนักมากจะพบอาการเป็นตะคริว อยากกินของแปลก ปวดหลัง และน้ำหนักขึ้นจากความเครียดร่วมด้วย ระยะเวลาที่เป็นจะเริ่มเป็นตั้งแต่รู้ว่าภรรยาตั้งครรภ์และจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 3-5 เดือน แต่ถ้าแพ้หนักมากก็อาจจะเป็นจนกว่าภรรยาจะคลอดลูกเลยทีเดียว
แนะนำให้คุณพ่อจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย หากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เพื่อให้สมองผ่อนคลายไม่ไปโฟกัสกับการตั้งครรภ์ของภรรยามากเกินไปนั่นเอง
เคล็ดลับรับมือกับ อาการแพ้ท้อง
เชื่อว่าเวลาแพ้ท้องคุณแม่ต้องรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวหรืออ่อนเพลียตลอดเวลา ดังนั้นคุณแม่ควรเรียนรู้เทคนิคการรับมือกับอาการเหล่านี้เอาไว้ เพื่อช่วยลดความทรมานจากอาการแพ้ท้อง
1. กินน้อยๆ แต่กินให้บ่อย
เวลาตั้งครรภ์ในท้องจะมีทารกอยู่ด้วย ถ้าคุณแม่กินอาหารเยอะเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ถ้ากินน้อยเกินก็รู้สึกอยากอาเจียนอีก แนะนำว่าให้กินน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ มากกว่า เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ทำงานแถมลูกน้อยจะได้อิ่มไปด้วย
2. ตื่นเช้าแล้วต้องรีบหาอะไรทานทันที
จากข้อที่แล้ว ถ้าท้องว่างจะทำให้รู้สึกพะอืดพะอม เพราะฉะนั้นพอตื่นเช้ามาคุณแม่ควรจะหาอะไรรองท้องก่อน เช่น น้ำขิงร้อน ๆ ขนมปังธัญพืช หรือบิสกิต
3. ไม่กินของที่แพ้
การฝืนกินอาหารที่มีประโยชน์แต่แพ้ก็ถือว่าเปล่าประโยชน์อยู่ดี เพราะจะทำให้รู้สึกอยากอาเจียน แถมอาหารก็ส่งไปไม่ถึงลูกน้อยอีกต่างหาก ให้คุณแม่ดูแลอาหารการกินของตัวเองด้วยโดยที่ไม่ต้องไปกลัวว่าลูกจะได้สารอาหารไม่ครบ
4. หลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน
เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นน้ำยาปรับผ้านุ่มแรง ๆ โรออนระงับกลิ่น สเปรย์ปรับอากาศ
5. ดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ
คุณแม่ที่รู้สึกขมคล้ายกับมีโลหะอยู่ในปาก แนะนำให้แปรงฟันให้สะอาดรวมถึงใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วยจะช่วยให้รู้สึกขมน้อยลง
6. เลี่ยงอากาศร้อน
อากาศร้อนจะทำให้เหงื่อออกง่ายหรือบางทีก็พาลทำให้หงุดหงิดอีก ซึ่งไม่ดีต่อคนท้องเพราะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องออกไปข้างนอกให้คุณแม่หาร่มไม้หรือเข้าห้องแอร์ไปพักก่อน หรือถ้ารู้สึกเหนื่อยอาจจะหาน้ำหวาน ผลไม้แช่เย็นมากินให้รู้สึกชื่นใจก็ได้
7. พักผ่อนให้เพียงพอ
คนท้องจะเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป คุณแม่จึงไม่ควรนอนดึกเกินไปและต้องนอนให้มีคุณภาพด้วย ตื่นมาจะได้สดชื่น ไม่อ่อนเพลีย
8. หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ
อย่าไปโฟกัสกับอาการแพ้ท้องมากนัก เพราะยิ่งเครียดกับมันอาการก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ถ้าอยากลดความเครียดลงให้หากิจกรรมหรืองานอดิเรกง่าย ๆ ทำ เช่น ดูซีรีส์ที่ชอบ รดน้ำต้นไม้ วาดรูป อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เป็นต้น
9. ออกกำลังกาย
ขยับแข้งขยับขา ยืดเส้นยืดสาย เช่น การแกว่งแขนไปมา ยกแขนขึ้นลง เดินรอบบ้าน หรือถ้ามีเวลาจะออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ก็ได้เช่นกัน จะช่วยให้จิตใจเบิกบานและรู้สึกผ่อนคลายมากกว่าการอยู่แต่ในบ้าน
10. พบแพทย์
กรณีที่คุณแม่แพ้ท้องมากๆ อย่านิ่งดูดาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและลูกในท้องได้
อาหารช่วยลด อาการแพ้ท้อง
ช่วงแพ้ท้องจะทานอะไรก็ลำบากไปหมด อาหารบางอย่างที่ชอบกลายเป็นไม่ชอบ เหม็นกลิ่นอาหาร บางทีก็เกิดอยากกินอาหารแปลก ๆ ขึ้นมา หรือบางทีก็ไม่อยากอาหาร เรียกว่าการกินเป็นปัญหาหลักของคนแพ้ท้องเลยล่ะ วันนี้เลยเอาอาหารที่จะช่วยลดอาการแพ้ท้องมาฝากกัน
1. ขิง
เป็นอาหารที่มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทาการไอ ไข้หวัด ขับลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกได้ตามใจชอบไม่ว่าจะเป็น ทานขิงจริง ๆ หรือดื่มน้ำขิงร้อน น้ำขิงเย็น น้ำขิงโซดาก็ได้เช่นกัน แต่ขิงเป็นอาหารที่ให้ความร้อน ไม่ควรทานมากเกินไปเพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
2. ขนมปังธัญพืชหรือขนมปังกรอบ เช่น คุ้กกี้ บิสกิต
เวลาแพ้ท้องคุณแม่บางท่านจะทานข้าวได้แค่ไม่กี่คำเท่านั้นหรือทานไม่ได้เลย โดยเฉพาะช่วงเช้าที่ท้องว่างอาการอยากอาเจียนจะยิ่งหนัก ดังนั้นให้คุณแม่เตรียมวางขนมปังธัญพืชหรือบิสกิตไว้ข้างเตียงเลย ให้ตื่นแล้วสามารถได้หยิบกินได้ทันทีก็จะช่วยลดอาการอยากอาเจียนไปได้บ้าง
3. โยเกิร์ต
ในโยเกิร์ตอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งจุลินทรีย์ โปรตีน วิตามินบี แคลเซียม โพแทสเซียม และโพรไบโอติก ทานง่ายแถมดีต่อร่างกายและผิวพรรณมาก ๆ
4. อัลมอนด์
อัลมอนด์ช่วยเพิ่มภูมิคุ้นกันในร่างกายและมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีโปรตีนสูงที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ มีไฟเบอร์ รวมไปถึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย สามารถใช้ทานเป็นมื้อเล็ก ๆ ระหว่างวันได้ แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกายและลูกน้อยด้วย
5. กล้วย
กล้วยเป็นผลไม้ที่ทานง่ายและไม่ต้องเตรียมอะไรยุ่งยาก มีวิตามินมากมาย ทานแล้วรู้สึกอิ่ม ยิ่งทานคู่กับโยเกิร์ตหรืออัลมอนด์ก็ยิ่งอร่อยขึ้นไปอีก
6. น้ำมะพร้าว
ในน้ำมะพร้าวอุดมไปด้วยกรดลอริก (Lauric Acid) ที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต้านไวรัส เชื้อหวัดและมีสารอาหารครบถ้วนเช่น โปรตีน วิตามิน โพแทสเซียม แคลเซียม ไฟเบอร์ นอกจากนั้นดื่มแล้วยังให้ความรู้สึกสดชื่น เรียกว่ามีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและผิวพรรณเลยทีเดียว
7. เมล็ดทานตะวัน
ในเมล็ดทานตะวันมีวิตามินบี 6 สูง ซึ่งช่วยเรื่องการทำงานของระบบประสาทและสมอง คุณแม่สามารถใช้กินเป็นของว่างระหว่างวันได้ง่าย ๆ
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับอาการแพ้ท้อง ทั้งสำหรับคุณแม่มือใหม่หรือคุณแม่ที่เคยมีน้องมาแล้ว เพราะการแพ้ท้องแต่ละครั้งอาการอาจไม่เหมือนกัน ซึ่งคุณแม่สามารถเอาไปปรับใช้กับตัวเองได้เลย เพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี ทั้งของคุณแม่และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ด้วย
อ้างอิง
https://bit.ly/3pTp6Ck
https://bit.ly/2S3o9eg
https://bit.ly/3xn2c8T
https://bit.ly/35q9bSG
https://bit.ly/3pUzs4Z
https://bit.ly/3gF9QVz
https://bit.ly/2S3o9eg
https://bit.ly/3vnlaL3
https://bit.ly/3zvlIlh
https://bit.ly/3wvcyTY
https://bit.ly/3gQWiX9
https://bit.ly/3pUBsde
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการ แพ้ท้อง น้ำลายไหลมากผิดปกติ ป้องกันได้ด้วย 4 วิธีนี้
4 อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์ ต้องรับมืออย่างไรถึงจะดีขึ้น?
คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง? เปิดลิสต์อาหาร 10 ชนิดที่แม่ท้องต้องเลี่ยง
Kankanid
Content Manager at Mama's Choice